เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้จัดเสวนาบทบาทกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน – อนาคต โดยมีนักวิชาการด้านพลังงานร่วมวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานและมีมุมมองต่อบทบาทของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่น่าสนใจ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนต่อเนื่อง กองทุนน้ำมันฯ ซึ่งมีบทบาทหลักในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานในประเทศให้เกิดความเหมาะสมเมื่อเกิดวิกฤตด้านพลังงาน ยังคงต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนราคาพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นน้ำมันด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบมากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อดีตผู้อำนวยการสกนช. วิเคราะห์ว่า ประมาณการราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยนปี 67 นี้อยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจุบันกองทุนสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ 2 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีความผันผวน และหากถึงฤดูหนาวปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเนื่องถึงมกราคมปีหน้า ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ราคาก็ยิ่งขยับขึ้น การกำหนดเพดานราคาดีเซลในประเทศไว้ที่ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร อาจต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุนเพิ่มขึ้นอีก ฐานะกองทุนก็ยิ่งติดลบมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในอนาคต กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีประโยชน์ควรคงให้มีกองทุนไว้ แต่อาจต้องให้มีความชัดเจนเรื่องระยะเวลาในการช่วยเหลือราคาน้ำมันในประเทศ โดยต้องอุดหนุนระยะสั้นเพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงรวดเร็วจนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน หากสามารถตกลงกติกาเรื่องอุดหนุนระยะสั้นนี้ได้ชัดเจน ส่งเสริมเป็นการเฉพาะเป็นรายเซ็กเตอร์ เช่น กลุ่มประมง กลุ่มเปราะบาง จะช่วยทำให้กองทุนไม่ต้องมีภาระที่หนักเกินไป และจะต้องก้าวข้ามพ้นเรื่องตรึงราคาดีเซลไว้ที่ 30 บาท/ลิตร เพราะเป็นตัวเลขที่ใช้เป็นฐานคิดมานานแล้วตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบราคา 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เมื่อประสบปัญหาราคาน้ำมันก็ปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ใช้พลังงานน้อย แต่สำหรับประเทศเรายังไม่ได้ปรับตัวมากนัก
อีกสิ่งที่น่าสนใจในการสัมนาครั้งนี้คือคำว่า “วิกฤตการณ์ด้านสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ที่นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้กล่าวไว้ แสดงให้เห็นว่า การชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้ได้หากยังไม่มีแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขที่ถูกวิธี ซึ่งสอดคล้องกับที่นายวีระพลได้กล่าวไว้ จึงควรสนับสนุนการชดเชยมุ่งหนุนเฉพาะกลุ่ม ไม่ตรึงราคายืดเยื้อ
นายยอดพจน์ วงศ์รักมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์ด้านเชื้อเพลิงฟอสซิลประเทศไทยยังต้องนำเข้าเป็นหลักถึงแม้ว่าเราจะมีนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 30@30 แต่เชื่อว่าไทยยังต้องพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลไปอีกราว 10-20 ปี ในเรื่องราคาพลังงานในมุมของเศรษฐศาสตร์จะมีความสัมพันธ์กันระหว่างราคากับการใช้ หากราคาน้ำมันสูงขึ้นปริมาณการใช้ก็จะลดลง เท่ากับถ้าแพงก็จะใช้น้อยเกิดการประหยัดมากขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศเราแก้ปัญหาได้ตรงจุดควรนำบทเรียนที่ผ่านมาของการดำเนินงานกองทุนน้ำมันฯ มาพิจารณาปรับแก้ไข เพื่อให้เกิดความสามารถในการบริหารจัดการให้ความช่วยเหลือของกองทุนน้ำมันฯ เข้าถึงกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ และเพื่อสะท้อนให้เห็นศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่เท่าไหร่ จะต้องมีตัวเลขที่สัมพันธ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ใช้ในการแข่งขันด้านการส่งออกหรือการดำเนินธุรกิจในประเทศ
สิ่งสำคัญคือ การรณรงค์เรื่องการประหยัดและการส่งเสริมให้คนตระหนักในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับเยาวชนขึ้นมาเรื่อยๆ จะทำให้ระยะยาวใน 10 ปีข้างหน้าปัญหาจะไม่วนกลับมาแบบเดิมไม่ยึดติดว่าต้องใช้ดีเซลราคาถูก และมองว่ากองทุนน้ำมันฯ ยังมีความจำเป็นสำหรับมิติประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าภายนอกจำนวนมาก แต่การอุดหนุนอาจต้องช่วยกันมองวิธีการใหม่ๆ นอกเหนือจากการใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ กลไกภาษีของกระทรวงการคลัง อาจเพิ่มเติมแนวคิดเช่น กระทรวงอุตสาหกรรมก็อาจสนับสนุนตัวโรงงานผลิตสินค้าจะให้สิทธิประโยชน์อย่างไรเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นต้นทุน ซึ่งถือเป็นการช่วยกันหลายด้านเกี่ยวกับการชดเชยราคาน้ำมัน
ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้กลไกราคาเป็นตัวทำให้เกิดการประหยัด และเกิดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง การทำให้ต้นทุนต่ำกว่าข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่ควรทำในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ควรตรึงยาวนานตลอดไป เพื่อให้ประชาชนค่อยๆ ปรับตัวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง