“เราเป็นขนมขบเคี้ยวแบรนด์สัญชาติไทย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยผมถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจนี้ ซึ่งทั้งช่วงเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ กลยุทธ์ที่นำมาใช้ก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง” ผู้ประกอบการ “ธุรกิจขนมขบเคี้ยว” ภายใต้ชื่อแบรนด์ “จอลลี่แบร์” บอกเล่าที่มาขนมสัญชาติไทย ที่เส้นทางธุรกิจของผู้ประกกอบการรายนี้ก็มีอะไร ๆ น่าสนใจ และน่าศึกษาไม่น้อย ซึ่งวันนี้คอลัมน์นี้มีกรณีศึกษานำมาฝากกัน…
นิค-พลากร เชาวน์ประดิษฐ์ เจ้าของแบรนด์จอลลี่แบร์ (Jolly Bears) ขนมเยลลี่รูปตุ๊กตาหมีที่อยู่ในตลาดมานานกว่า 50 ปี ได้ขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของขนมขบเคี้ยวแบรนด์สัญชาติไทยแบรนด์นี้ บนเวที SME New Gen จ.ขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ ซีพี ออลล์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมการค้าปลีกและเอสเอ็มอีทุนไทย เพื่อเป็นพื้นที่ให้ SME รุ่นใหม่ได้อัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจ โดยผู้ประกอบการแบรนด์จอลลี่แบร์ก็ได้ขึ้นมาบอกเล่าประสบการณ์ และแนะนำเทคนิคบนเวทีนี้ด้วย
นิค-พลากร เจ้าของแบรนด์เล่าว่า ก่อนจะมาเป็นขนมเยลลี่แบรนด์นี้ ธุรกิจของครอบครัวเริ่มต้นจากการผลิตขนมอย่างลูกอมแบบแข็ง โดยผลิตขนมชนิดนี้ขายมาเรื่อย ๆ ต่อมาด้วยสภาพตลาดที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงตอนนั้น ทำให้ทายาทรุ่นที่ 2 จึงต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโต จึงหันมาผลิตเยลลี่รูปหมีแทน จนเกิดเป็นขนมเยลลี่แบรนด์นี้ในที่สุด โดยตัวของเขาถือเป็นรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อ
นิค-พลากร เล่าว่า ยุคแรก ๆ ที่ขนมเปิดตัว ตอนนั้นคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักขนมชนิดนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนซื้อขนม จึงตัดสินใจทำการตลาดผ่านสื่อหลัก เช่น ทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักวงกว้าง ซึ่งหลังโปรโมทก็มีกระแสตอบรับดีเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่นตลาดเริ่มมีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์จากต่างประเทศ ทำให้ต้องกลับมาสร้างแบรนด์จริงจังอีกครั้ง เพราะมองว่าด้วยความที่แบรนด์อยู่ในตลาดมานาน ผู้บริโภคที่เป็น Gen ใหม่ ๆ อาจเข้าไม่ถึงถึงตัวตนที่แท้จริงของแบรนด์ อีกทั้งการตลาดแบบเดิมอาจไม่พอต่อการตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จึงสร้างแบรนด์ใหม่อีกครั้ง และทำตลาดแบบ Offline คู่กับ Online โดยเพิ่มสัดส่วน Online มากขึ้นผ่านช่องทางโซเซียลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการบอกต่อกัน
ทั้งนี้ เขาบอกว่า การยืนหยัดในตลาดที่มีผู้เล่นจำนวนมาก สิ่งสำคัญคือต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพราะแบรนด์ที่ดีจะสร้างความความเชื่อมั่นให้กับสินค้า ซึ่งการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งได้นั้นต้องใช้หลัก 3 ข้อคือ 1.หาจุดแข็งสินค้าให้เจอ 2.สร้างมาตรฐานให้สินค้า 3.หาพันธมิตรเพื่อเติบโตร่วมกัน นี่เป็นเคล็ดไม่ลับที่ผู้บริหารรุ่น 3 ของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวสัญชาติไทยแนะนำไว้ ที่เอสเอ็มอีสาขาอื่น ๆ น่าจะนำไปปรับใช้ได้.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]