เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำทีม สพฐ. ร่วมงาน “สพฐ.สัญจร รวมพลังแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร” จุดที่ 3 ภาคใต้ ณ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร ร่วมกับ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และ ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี พบปะหารือแนวทางการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคใต้ที่ลงทะเบียนเข้ารับการแก้ไขหนี้สินกับ สพฐ. รวมทั้งผู้มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่ากว่าร้อยละ 30 ผู้สนใจและมีความทุกข์จากการเป็นหนี้สิน โดยมี ผู้บริหารจาก สพป.สุราษฎร์ธานี เขต 1-3 สพม.สุราษฎร์ธานี ชุมพร สพป.นครศรีธรรมราช เขต 4 สพม.นครศรีธรรมราช และ สพป.ชุมพร เขต 1 ครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ ในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด เข้าร่วมอย่างคึกคักกว่า 700 คน และถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Facebook live : ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ไปยังผู้ชมที่สนใจทั่วประเทศ จำนวน 6,200 คน พร้อมด้วยคณะกรรมการ และผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสุราษฎร์ธานี ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสุคนธ์ หนูภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้การต้อนรับอย่างดียิ่ง

นางเกศทิพย์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งขับเคลื่อนนโยบายการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากร โดยได้นำนโยบายสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ร่วมกับสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศ เพื่อช่วยคลายทุกข์ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ครูมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน ผ่านการเจรจาของทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบรรลุผลสำเร็จ โดยเฉพาะ ผอ.เขต ที่เป็นผู้นำของข้าราชการครูและบุคลากร เป็นผู้มีบทบาทหลักที่จะทำให้บุคลากรในสังกัดที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ได้รับการคลายทุกข์ และทำให้ทุก ๆ คน ได้รับเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% จริง เพื่อการครองชีพที่เหมาะสม โดยผลกระทบจากปัญหาหนี้สิน ต้องไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และการปฏิบัติหน้าที่ของครูทุกคน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรฯ ของ สพฐ. ทั้งบุคลากรที่อยู่ในระบบราชการและข้าราชการบำนาญ เป็นเรื่องสำคัญที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐบาลและผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิด จากการลงพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ได้กระตุ้นและเน้นย้ำนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ดำเนินการโดยสถานีแก้หนี้ สพฐ. ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้เร่งดำเนินการเพื่อให้ครูและบุคลากร ได้คลายทุกข์ ทำงานอย่างมีความสุข สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้นักเรียน เรียนดีอย่างมีความสุข รวมทั้งได้สร้างความมั่นใจในระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งในส่วนการหักเงินเดือนที่ต้องมีเงินเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และกรณีข้าราชการผู้ใดเห็นว่าสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่นั้นไม่ดำเนินการดูแลและช่วยเหลือให้มีการหักเงินเดือนหรือเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ จะมีสถานีแก้หนี้สินครูทั้ง 245 เขตพื้นที่ เป็นตัวแทนเจรจา ปรับลดดอกเบี้ย รวมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้ความรู้ในการบริหารจัดการการใช้เงินอย่างฉลาด ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ตามหลักความยั่งยืน หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมเพิ่มรายได้ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรีต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 ในเรื่องการขับเคลื่อนฯ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามัญเหลือไม่เกินร้อยละ 4.75 จำนวน 11 แห่ง และยังมีส่วนที่ทยอยลดดอกเบี้ยต่ำลงอีก 42 แห่ง มีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับการช่วยเหลือ 619,125 คน สำหรับผู้ลงทะเบียนทางระบบแก้หนี้ออนไลน์ของ สพฐ. มียอดรวมสะสม 7,020 คน สามารถแก้ไขได้สำเร็จแล้ว 799 คน มีมูลค่าหนี้ที่แก้ไขได้กว่า 2,397 ล้านบาท ที่สำคัญการสัญจรลงพื้นที่แต่ละจุดยังสามารถสร้างความมั่นใจในการดำเนินงานสถานีแก้หนี้ สพท. ให้มีแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการประสานเจรจา ช่วยเหลือครูและบุคลากรฯ และแก้ไขกรณีตัวอย่างที่มีความวิกฤติฉุกเฉินได้จำนวนมาก เช่น ครูบำนาญ เกษียณอายุมาแล้ว 9 ปี เงินเดือน เงินวิทยฐานะลดลง ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตกเป็นหนี้เสีย ส่งผลให้ธนาคารฟ้องบังคับคดี ผู้กู้และผู้ค้ำประกันจะถูกฟ้องยึดบ้านและที่ดิน เมื่อทราบข้อมูล สพท. และ สพฐ. ร่วมมือกันประสานธนาคารผู้ฟ้อง และสหกรณ์ออมทรัพย์เข้าเจรจา ไกล่เกลี่ยช่วยเหลือ ส่งผลให้ครูบำนาญสามารถผ่อนชำระได้ตามกำลังการเงิน กลายเป็นลูกหนี้ปกติ ธนาคารผู้ฟ้องชะลอการฟ้องร้องและบังคับคดีผู้ค้ำประกัน ส่งผลให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกันมีรอยยิ้ม สุขใจกลับบ้านอย่างมีความสุข ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุราษฎร์ธานี ประสานการช่วยเหลือเพื่อพิจารณารวมหนี้ และปลดหนี้จากธนาคารต่อไป

สำหรับอีกกรณีพบว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ให้ความช่วยเหลือโดยการลดดอกเบี้ยและปรับโครงสร้างหนี้แล้วแต่ยังมีเงินเดือนเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 จำนวนกว่า 20 ราย ทั้งนี้ให้ปรึกษาคณะกรรมการที่ปรึกษาการแก้ไขหนี้สิน สพฐ. พบว่ามีปัญหาเรื่องจัดรูปแบบการผ่อนชำระรายเดือนเพื่อให้เงินเดือนเหลือมากขึ้น โดยปรับรูปแบบจากการผ่อนชำระแบบยอดเท่ากันทุกเดือน เป็นการผ่อนชำระแบบเงินต้นเท่ากันทุกเดือน ส่งผลให้มีเงินเดือนมากขึ้น สามารถดำรงชีพได้อย่างมีความสุข

“โอกาสนี้ ขอขอบคุณ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย นายสุคนธ์ หนูภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ในจังหวัดภาคใต้ ผู้จัดการธนาคารออมสินสาขาสุราษฎร์ธานี ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ และทีมสถานีแก้หนี้ สพฐ. ทุกภาคส่วนที่ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้อย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ครูและบุคลากรฯ มีความรู้และทักษะด้านการเงิน สามารถป้องกันและแก้ปัญหาด้านการเงินด้วยตนเองอย่างยั่งยืน สามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย มีอาชีพเสริมและดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างดี มีประสิทธิภาพสูงตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ “ความสำคัญของการยกเลิกการผูกขาดที่ครูจะต้องกู้ยืมจากสหกรณ์ในจังหวัดเท่านั้น เพื่อช่วยให้ครูได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม” โดย ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย “การไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาครูที่มีเงินดำรงชีพเหลือน้อยกว่า 30% และกรณีที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี” โดย ดร.ขจร ธนะแพสย์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกับการช่วยเหลือสมาชิก” โดย ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด เป็นต้น