นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ทำเรื่องของบกลางเพิ่มเติมอีก 7,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายอุดหนุนการดำเนินมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อีกจำนวน 3.5 หมื่นคัน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอเสนอเข้า ครม.พิจารณา หลังจากที่ผ่านมา กรมได้จ่ายเงินอุดหนุนรอบแรกไปแล้ว 7,000 ล้านบาท เป็นรถอีวี 4 หมื่นคัน ซึ่งรวมแล้วใช้เงินอุดหนุนรวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาพรวมการดำเนินมาตรการอีวี ตั้งแต่ปี 65-67  มีค่ายรถยนต์ลงนามเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง อีวี 3.0 และอีวี 3.5 แล้ว 31 ราย แบ่งเป็นอีวี 3.0 ที่ดำเนินการเมื่อปี 65-66 จำนวน 23 ราย และอีวี 3.5 ที่เริ่มปี 67-70 จำนวน 8 ราย โดยมีรถยนต์ที่เข้าร่วมสิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% และเงินอุดหนุนภาครัฐสูงสุดคันละ 1.5 แสนบาท ช่วงปี 65-66 ประมาณ 8-9 หมื่นคัน  ซึ่งหลังจากนี้จะทยอยตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยตามเงื่อนไขแล้ว 1 ราย มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการรักษาฐานการผลิตในไทย และหลังจากนี้จะมีค่ายรถอื่นเข้ามาตั้งโรงงานอีกต่อเนื่อง นอกจากนี้ สิ่งที่ประเทศไทยจะได้เพิ่มเติม คือ ค่ายรถยนต์จะต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิต หรือประกอบแบตเตอรี่ในประเทศไทยตามเงื่อนไขด้วย เนื่องจากรถยนต์อีวีใช้ส่วนประกอบหลัก คือ แบตเตอรี่ ฉะนั้น อุตสาหกรรมแบตเตอรี่จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นเดียวกัน โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่ามีแผนเข้ามาลงทุนสำหรับแบตเตอรี่ 2.5 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ ค่ายรถจะมีการเข้าตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วน และอะไหล่ต่าง ๆ สำหรับใช้ในรถอีวีอีก เช่น ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ในรถอีวี ระบบการปรับเกียร์ มอเตอร์รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเมินเบื้องต้นจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในส่วนอุปกรณ์ และอะไหล่รถยนต์ในไทยอีก 5,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ไปจากการอุดหนุนรถอีวี รวมถึงการลดภาษีสรรพสามิต ถือว่าจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และจะช่วยผลักดันให้ไทยรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สมัยใหม่ชั้นนำของโลกต่อไปได้

นายเอกนิติ กล่าวว่า รัฐบาลวางเป้าหมายมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าว่า ปี 73 ต้องมีการผลิตรถไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ควบคู่กับการรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปชั้นนำของโลกต่อไป โดยตามเงื่อนไขมาตรการอีวี 3.0 จะต้องผลิตรถไฟฟ้าชดเชยรถที่นำเข้ามาปี 65-66 มีทั้งหมด 1 แสนคัน ฉะนั้นปี 67 ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้ามาตั้งโรงงานในไทย และผลิตรถอีวีให้ทันตามเงื่อนไข โดยหากผลิตทันในปีนี้ ทำแค่เพียง 1 เท่า แต่ถ้าเป็นปี 68 ต้องผลิต 1.5 เท่า จึงคาดว่าค่ายรถจะผลิตคืนทันปีแรก 8-9 หมื่นคัน

ขณะที่มาตรการอีวี 3.5 เริ่มในปี 67-70 จะเปลี่ยนเงื่อนไขให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าลดลง เหลือสูงสุด 1 แสนบาทต่อคัน และปี 68 จะลดเหลือ 7.5 หมื่นบาทต่อคัน และอีก 2 ปีที่เหลือ จะอุดหนุน 5 หมื่นบาท เพื่อเป็นการช่วยค่ายรถยนต์บางส่วนที่เข้าร่วมมาตรการอีวี 3.0 ไม่ทัน โดยปัจจุบันไทยผลิตรถสันดาปปีละ 1.6-1.8 ล้านคัน ครึ่งหนึ่งขายในประเทศ ครึ่งหนึ่งเป็นฐานการส่งออก และหลังจากนี้เราจะเห็นการผลิตรถอีวีเพิ่มขึ้นด้วย