เพราะครั้งนี้ มีการนำน้องแมวจากศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ซึ่งเป็นแมวจรที่ผ่านการดูแล ปรับพฤติกรรม ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และทำหมันเรียบร้อยแล้ว มาแสดงให้ผู้ที่ชื่นชอบแมวได้เข้ามาเล่น ให้อาหาร และหากถูกชะตากัน ก็สามารถแสดงความจำนงต่อเจ้าหน้าที่ขอรับอุปการะไปเลี้ยงได้ ซึ่งหลังจากจบงานมีคนขอรับไปอุปการะทั้งหมด 11 ตัว แต่ก่อนหน้านี้ช่วงที่โปรโมตซึ่งได้ทำการลงภาพแมวที่จะนำมาโชว์ตัวในงาน BKK Expo นั้น พบว่ามีผู้ติดต่อขอรับแมวจร ชื่อน้องไมโล ไปแล้วก่อนหน้า
โดยไมไลเป็นแมวอายุ 5 เดือนถูกนำมาอยู่ที่ศูนย์ควบคุมสุนัขฯแห่งนี้ได้ไม่นาน เนื่องจากเจ้าของเป็นหญิงชราวัย 89 ปีไม่สามารถเลี้ยงดูได้เพราะไม่มีครอบครัวและญาติที่จะรับแมวตัวนี้ไปเลี้ยง ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ได้รับการประสานมา จึงได้ไปรับตัวมาดูแลพร้อมกับฉีดวัคซีนที่จำเป็นในสัตว์ พร้อมฟื้นฟูและปรับพฤติกรรม จนกระทั่งมีคนมาติดต่อขอรับไปดูแลต่อ
น.สพ.ศิษฏพล เอี่ยมวิสูตร์ ผอ.สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ระบุว่า สุนัขและแมวที่ถูกนำมาไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ จะเป็นสุนัขและแมวที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ และถูกคัดกรองตาม 4 แนวทาง ได้แก่ 1.กรณีสงสัยหรือสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า 2.กรณีกัดทำร้ายคนที่มีหลักฐานชัดเจน 3.กรณีดุร้ายหรือมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะสร้างความไม่ปลอดภัยของประชาชนแต่กรณีนี้ก็จะมีการพิสูจน์ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยการลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขต หากพบว่าตรวจสอบแล้วว่าเป็นจริงก็จะนำตัวออกมาทันที และ 4.กรณีเจ้าของสิ้นสภาพการเลี้ยงและไม่มีทายาทรับเลี้ยง เช่น เจ้าของเดิมเสียชีวิต เพราะถ้าหากไม่มีใครรับเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ก็จะถูกทอดทิ้งและกลายเป็นสัตว์จรในที่สุด
จากนั้นจะดำเนินการตรวจคัดกรอง กักสังเกตอาการ ตรวจเลือดเพื่อดูว่าสัตว์มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรค ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผ่าตัดทำหมัน และให้การรักษาเบื้องต้นแก่สัตว์บาดเจ็บหรือป่วย รวมทั้งฟื้นฟูและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เนื่องจากเราไม่ทราบว่า สัตว์เหล่านี้ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะพบเจอกับอะไรมาบ้างอาจเกิดความหวาดกลัว หรือดุร้ายไม่ไว้ใจคนที่จะเข้ามาดูแล และเมื่อฟื้นฟูจนมีการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดีขึ้นจนสามารถอยู่ร่วมกับเจ้าของใหม่ได้ ก็จะดำเนินการไปสู่ขั้นตอนต่อไป นั่นคือการประกาศหาผู้อุปการะ โดยประสานความร่วมมือกับเครือข่ายมูลนิธิ องค์กร และสมาคมต่าง ๆ ในการช่วยกันหาบ้านใหม่ให้กับสัตว์เหล่านี้
ทั้งนี้การดำเนินงานด้านสัตว์จรนั้น กรุงเทพมหานครดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข และพ.ร.บ.เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า มีหน้าที่นำสัตว์จรจัดโดยเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่สาธารณะนำมาดูแลกักโรค โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งถือเป็นโรคสัตว์สู่คนที่สำคัญ และยังเป็นการดำเนินงานขับเคลื่อนการจัดระเบียบสัตว์จร ตามนโยบายของผู้ว่าฯกทม. (นโยบาย 138 จัดระเบียบสัตว์จร แก้ปัญหาผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบ) โดยสำนักอนามัย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และสำนักงานเขตเป็นหน่วยงานสนับสนุน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์
สำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะรับอุปการะ จะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้ 1.ได้รับความเห็นชอบจากคนในครอบครัว 2.มีความรู้เบื้องต้นในการเลี้ยงสัตว์ 3.มีสถานที่เลี้ยงที่มีรั้วรอบขอบชิด 4.มีความพร้อมในการดูแลค่าใช้จ่ายและที่สำคัญ 5.ต้องมีจิตใจเมตตา รักสัตว์ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถ เข้ามาเยี่ยมชมสุนัขและแมวได้ที่ศูนย์ในวันและเวลาราชการ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กเพจ BKK Adopter หรือ โทร. 0-2328-7460 ซึ่งภายหลังที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปอีกครั้งเพื่อประเมิน ก่อนจะให้นำกลับไปเลี้ยง และจะมีการติดตามผล เช่น ให้ส่งคลิป หรือภาพของสุนัขและแมวที่รับไปเลี้ยงมาให้เจ้าหน้าที่ดู โดยมีระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าบ้านใหม่สามารถเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ได้
ท้ายสุด น.สพ.ศิษฏพล มีข้อแนะนำถึงผู้ที่พบเจอสัตว์จรอาศัยในพื้นที่สาธารณะแล้วมีความประสงค์อยากรับไปเลี้ยงดูจะดำเนินการตามนี้เพื่อความปลอดภัย นั่นคือ เริ่มจากต้องสังเกตพฤติกรรมสัตว์จรเหล่านั้นก่อนว่าจะกัดเราหรือไม่ อย่ารีบเข้าไปจับ เพราะสุนัขและแมวจรจัดจะมีสัญชาตญาณป้องกันตัวสูง เพราะว่าสัตว์เหล่านี้อยู่ในพื้นที่สาธารณะจึงไม่รู้ว่าเจออะไรบ้าง จากนั้นถ้าหากเป็นไปได้ให้สอบถามคนในละแวกนั้นว่าสุนัขและแมวที่เราเจอได้ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าหรือทำหมันแล้วหรือยัง และสุดท้ายก่อนนำกลับบ้านไปเลี้ยงต้องพาสุนัขและแมวจรไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายดูอาการว่าเข้าข่ายโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ตรวจสุขภาพว่าแข็งแรงสมบูรณ์หรือไม่ จากนั้นก็ทำโปรแกรมฉีดวัคซีนให้ครบตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ทั้งนี้หากโดนสุนัขและแมวจรจัด กัด ข่วน ต้องรีบล้างแผล กักตัวสัตว์เพื่อดูอาการหรือแจ้งหน่วยงานให้เข้าไปจับ ส่วนตัวผู้ที่ถูกกัดก็ให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบตามที่แพทย์นัด เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาหาย.