ไปไหนมาไหนในเวลานี้ โดยเฉพาะบรรดารากหญ้า พ่อค้าแม่ค้า โชเฟอร์แท็กซี่ และใครต่อใครต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ย่ำแย่เหลือเกิน ทำมาหากินไม่ได้ ทุกอย่างเงียบหมด ลูกค้าไม่มี ขายของไม่ได้ หลายคนพาลไปคิดถึงยุค “ลุงตู่” ก็มี โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ทำให้เงินสะพัดดี แม้เป็นเงินไม่มาก แต่ก็สะพัดดี ผิดกับปัจจุบันที่ทำมาหากินได้ลำบาก

ธนาคารโลกหั่นจีดีพี

ด้วยสารพัดปัจจัยที่ส่งแรงกระแทกเข้ามา ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศเองก็อ่อนกำลัง ขาดแรงกระตุ้น ด้วยเพราะขาดเงินเข้ามาหมุนระบบ แม้รัฐบาลได้คาดหวังให้งบประมาณและโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เข้ามาเป็นพายุหมุนเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาจากหลายเงื่อนไข ต้องรอเวลา จึงทำให้เศรษฐกิจไม่เดินหน้าไปไหนอยู่แบบทรง ๆ บางเวลาก็หล่นวูบ สะท้อนให้เห็นจากอุตสาหกรรมหลักที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจทั้งอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ยอดขายตกต่ำ หลายโรงงานต้องทยอยปิดตัว

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทุกสำนักวิจัย จะปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 67 นี้ เหลือเพียง 2.4% ทั้งกระทรวงการคลัง ทั้งสภาพัฒน์ ทั้งบรรดานายแบงก์ ทั้งภาคเอกชน ล่าสุดเวิลด์แบงก์ได้ประกาศลดเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตามไปด้วย โดยคาดว่าจะเติบโตได้ที่ระดับ 2.4% เช่นกัน จากเดิมคาดว่าน่าจะอยู่ได้ที่ 2.8% เพราะในช่วง 7 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยกว่า 2% ซึ่งเป็นภาวะ “ดาวน์ ไซเคิล” แม้ว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้แต่ก็ไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นเด่นชัดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังหมดเสน่ห์ เพราะท่ามกลางเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว ผงกหัวขึ้น แต่กลับกันเศรษฐกิจไทยกลับหัวทิ่มบ่อ

ลดดอกเบี้ยไม่ได้แก้

ในอีกด้านที่เป็นคำถามคาใจประชาชนคนส่วนใหญ่ คือ รู้สึกได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดี เงินเฟ้อต่ำ แต่ทำไมแบงก์ชาติ ยังไม่ยอมลดดอกเบี้ยลงมาอีก เหตุผล…ของ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ตอบคำถามสื่อไทยไว้แบบมั่นใจอย่างหนักแน่น ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ 2.5% นั้นเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้แล้ว เพราะแบงก์ชาติมองยาว ๆ ไม่ได้มองแค่ปัจจุบันเท่านั้น โดยจะดูทั้งการเติบโตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพการเงิน ไปพร้อมกัน แต่ถ้าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงก็กลับมาทบทวนได้เช่นกัน และยังสำทับไว้ด้วยว่า “ลดดอกเบี้ย” ไม่ใช่ทางออกของทุกอย่าง เพราะมีผล กระทบและความเสี่ยงหลายด้าน

เช่นเดียวกับเรื่องที่สังคมมองว่าแบงก์ชาติมองเศรษฐกิจดีเกินไป ไม่เห็นความลำบากของคน ซึ่งผู้ว่าการ เศรษฐพุฒิ บอกว่า แบงก์ชาติไม่ได้มองเศรษฐกิจดีขนาดนั้น เมื่อเทียบกับประเทศหลักอื่นก็ฟื้นตัวช้ากว่า แค่บอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวทยอยเข้าสู่ระดับศักยภาพ พร้อมยอมรับว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจในภาพรวมได้ซ่อนความลำบากและความทุกข์ประชาชนหลายกลุ่ม แต่ก็มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพที่ 3% ในปี 68 แต่ถ้าต้องการเห็นการฟูฟ่องของเศรษฐกิจแบบที่มีศักยภาพแบบ 4-5% ก็ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง โดยต้องเพิ่มการลงทุนที่เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการวิจัยและพัฒนา ไม่ใช่มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจมีผลในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งในปีนี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ที่ 2.6%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารากเหง้าหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยย่ำแย่มาถึงวันนี้ จากการป่วยสะสมตั้งแต่ช่วงโควิดที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทั้งหมด แม้เป็นเหมือนกันทั่วโลกแต่เมื่อสิ้นสุดโควิด เศรษฐกิจไทยกลับไม่กลับมาฟื้นอย่างที่คิด การส่งออกติดลบต่อเนื่อง ตลาดหุ้นซบเซา การบริโภคหดตัว หนี้สินประชาชนล้นพ้นตัว มีเพียงการท่องเที่ยวเท่านั้น ที่พอเป็นไม้ค้ำยันได้ แต่ก็มีสัดส่วนเพียง 10% เศษ เมื่อเทียบกับจีดีพี 19 ล้านล้านบาท

โตได้เพราะแจกเงิน

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยโตได้จากมาตรการพิเศษจากภาครัฐ เป็นเศรษฐกิจแบบ “แบมือขอ” ไม่ได้โตได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับมาตรการพักหนี้ช่วงโควิด การกระตุ้นจากการแจกเงินของรัฐบาลทั้งการแจกเงินบัตรคนจนทุกเดือน เงินคนละครึ่ง 4-5 รอบ เงินโครงการไร่ละพัน ประกันรายได้ หมดเงินไปปีละ 2-3 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยปั๊มหัวใจคนไทยกระชุ่มกระชวย มีอารมณ์ไปจับจ่ายได้ ประคองเศรษฐกิจไปได้ แต่ก็ลุกขึ้นมาได้เพียงชั่วคราวไม่ยั่งยืน เพราะรัฐบาลไม่สามารถเสกเงินมาแจกได้ตลอดไป เนื่องจากเงินที่แจกทั้งหมด ล้วนมีต้นทุน ต้องแลกมาด้วยการกู้ การเป็นหนี้สินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น วัดได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ทะยานขึ้นจาก 40% กว่า ล่าสุดทะลุ 64% ไปแล้ว

หนี้ครัวเรือนถาโถม

ด้วยปัญหาเรื้อรังเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา แต่รัฐบาลชุดก่อนพยายามเลือกที่จะกินยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาปัญหาชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ เมื่อเงินหมดไม่สามารถแจกได้อีก ผสมโรงกับระเบิดเวลาของหนี้ครัวเรือน ที่เคยสะสมมาตั้งแต่โควิดสูงเกิน 90% ทำให้เมื่อสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ หนี้สินที่เคยซุกไว้ใต้พรม ก็ระเบิดตูมตามออกมาเป็นหนี้เสียในที่สุด ส่งผลให้ขณะนี้ประชาชนไม่มีเงินใช้หนี้ จนกลายเป็นหนี้เสีย ถูกยึดบ้านยึดรถ พันกันมั่วไปหมด ขณะที่ปัญหาการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าเพราะอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้งบประมาณกว่า 3.3-3.4 ล้านล้านบาท ไม่สามารถถูกเบิกออกมาใช้จ่ายได้ ยิ่งซ้ำเติมให้เศรษฐกิจปี 67 วิกฤติหนักไปอีก

เดินสายตปท.-งัดธปท.

แม้ว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ดูเหมือนทำงานมาอย่างหนักในช่วงเกือบ 1 ปี หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือน ส.ค. 66 แต่เศรษฐกิจไทยยังทรงตัว ไม่เห็นความแจ่มใส ไม่คึกคักเหมือนในช่วงหาเสียง ภาพจำที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศรับรู้ มีเพียงแค่การเดินสายต่างประเทศมากถึง 15 ครั้ง รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ยืนกรานไม่ลดดอกเบี้ย ตามเหตุผลทางเศรษฐกิจ จนสุดท้ายแบงก์ชาติหรือ ธปท. ก็ไม่ลดดอกเบี้ยอยู่ดี เพราะยืนยันว่าไม่ใช่ยาวิเศษที่จะปลุกให้เศรษฐกิจไทยได้

อย่างไรก็ดี…ต้องยอมรับว่าผลงานหรือนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมายังไม่สามารถปลุกเศรษฐกิจได้ เพราะดูเหมือนเป็นเพียงสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้งการประกาศสงครามแก้หนี้นอกระบบ หรือมาตรการพักหนี้ ที่จนถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าผลงานแก้หนี้ ทำได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลพร่ำบอกว่ามีความจำเป็นต้องทำ เพราะเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ก็ยังไม่มีอะไรที่จับต้องได้โดยเฉพาะการมุ่งเป้าไปที่การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จนทุกวันนี้ยังไม่มีมาตรการไหนที่พยุงเศรษฐกิจได้อย่างจริงจัง เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องกันเงินไว้ให้โครงการเรือธง หากมีมาตรการอื่นออกมาก็มีเงินไม่พอ ขณะที่มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ทั้งการขยายวงเงินลดค่าธรรมเนียม ค่าโอน รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีการสร้างบ้านก็จิ๊บจ๊อย หรือมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง เป็นแค่น้ำจิ้ม

พิชัย” เร่งเดินเครื่อง

แม้เวลานี้การที่รัฐบาลดึง “พิชัย ชุณหวชิร” เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและรมว.คลัง ที่เชื่อว่ามีความเข้าใจปัญหาและให้ความสำคัญพร้อม “แอ็กชัน” เร่งดึงเชื่อมั่นโดยเฉพาะในตลาดทุน แต่ก็ไม่รู้จะสายเกินไปหรือไม่? ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สินที่มีล้นพ้นตัว ปัญหาตลาดหุ้นซบเซา ปัญหาการหากำไรจากตลาดหุ้น รวมถึงการที่คนไทย ธุรกิจรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้เร็วและให้เกิดได้จริง เพื่อให้เศรษฐกิจหรือจีดีพีโตให้ได้ 3%

ระดมมาตรการก่อนสาย

ดังนั้นการประกาศมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงเริ่มทยอยออกมาให้เห็น โดยเฉพาะตลาดหุ้น ที่ไร้มนต์ขลังจนต่างชาติเทขายหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ไปมากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ออกมาตรการ Uptick Rule ที่ดีเดย์เริ่มใช้ไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาชอร์ตเซล การจับกุมผู้กระทำผิดจากคดี Stark มาดำเนินคดีเพื่อเรียกความเชื่อมั่น รวมถึงการผ่อนปรนกองทุน Thai ESG รวมไปถึงการปลุกชีพกองทุนวายุภักษ์ ออกมาเติมสภาพคล่องให้ตลาดอีกนับแสนล้านบาท รวมทั้งมีมาตรการทางการเงินที่ให้ธนาคารออมสิน เป็นแม่งานหลักออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำเพียงแค่ 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยกู้ต่อให้ประชาชน ธุรกิจรายเล็กไม่เกิน 3-4% พร้อมให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาช่วยค้ำประกันให้อีกกว่า 50,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็พยายามแก้ปัญหาเครดิตให้ประชาชน ที่ต้องติดบัญชีดำจากช่วงโควิด จนไม่สามารถกู้ได้ ให้สามารถกลับมากู้ได้เร็วขึ้น โดยคลังกำลังเจรจาจะขอลดเวลาจาก 5 ปี เหลือ 1-2 ปี เช่นเดียวกับการพยายามตัดหนี้เสียให้กับรายย่อยที่เคยขอกู้กับธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นับล้านราย และเมื่อนำมารวมกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ที่เริ่มทยอยเบิกจ่ายออกมาได้แล้ว 1-2 เดือน ตลอดจนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีความชัดเจนขึ้นว่า จะเดินหน้าต่อได้อย่างแน่นอน โดยเตรียมเปิดลงทะเบียนในเดือน ส.ค.นี้ และสามารถเริ่มใช้จ่ายได้ประมาณเดือน ต.ค. 67 เพื่อเข้ามาหมุนเศรษฐกิจ

ที่สำคัญใน 1-2 สัปดาห์นี้ กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ ครม. ปล่อยไม้เด็ดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลอตใหญ่ออกมาอีก!! เหล่านี้เป็นความพยายามที่ทำให้คนไทยกลับมามีความหวัง แต่จะมากน้อยเพียงใด คงต้องจับตา และเหนือสิ่งอื่นใดจะทำอะไรก็รีบ ๆ ทำ!!.