อย่างที่รู้ๆ กันว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) หรือ AI ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีการพูดถึงและมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เทคโนโลยี AI ก็เหมือนเหรียญสองด้าน คือ มีทั้งประโยชน์ และโทษ โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีนี้ ที่เรียกว่า Deepfakes ในการปลอมหน้าและเสียง ซึ่งหากมีการนำไปใช้อย่างไม่มีจริยธรรม ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้!!

เห็นได้จาก สหภาพยุโรป ก็กำลังออกกฎหมาย เพื่อใช้ควบคุม AI หรือ  EU AI Act ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้งาน AI ฉบับแรกของโลก!?!

โดยหวังว่าจะช่วยป้องกันสิทธิขั้นพื้นฐานแตะยังสามารถช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา และยังเป็นการสร้างกฎระเบียบที่ชัดเจนไว้สำหรับหน่วยงานควบคุม AI ของประเทศต่างๆ ในอียู!!

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการออกกฎหมายมาเพื่อใช้ควบคุม AI หรือไม่ โดยหน่วยงานรัฐกำลังพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย หากมีกฎหมายออกมา แต่ปัจจุบันก็ได้มีการออก “ไกด์ไลน์” หรือแนวปฎิบัติในการใช้งาน AI ออกมา เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียในการใช้งาน!?!

อย่างไรก็ตาม เมื่อ “โจรไซเบอร์” มีการใช้ AI ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งมาพร้อมกับการใช้แพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียที่เพิ่มมากขึ้น การใช้เทคโนโลยี AI อย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดการสร้าง Deepfakes ที่น่าเชื่อถือและเนื้อหาที่สร้างโดย AI ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นจริง และเรื่องหลอกลวง เป็นเรื่องที่แยกแยะได้ยากขึ้น!!

โดยเฉพาะจากรายงานของ DataReportal ประเทศไทยมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 49.10 ล้านคน จากข้อมูลล่าสุด ในเดือนมกราคม 67 ซึ่งคิดเป็น 68.3% ของประชากรทั้งหมด

ภาพ pixabay.com

เราจะสามารถป้องกันภัยอย่างไร เมื่อโจรไซเบอร์ใช้ AI เป็นอาวุธบนโซเชียลมีเดีย?

“ลิซ่า ลิม” รองประธานฝ่ายการตลาด พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ได้แนะนำวิธีที่ผู้ใช้งานและองค์กร สามารถป้องกันตนเองจากภัยคุกคามที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่ว

“ลิซ่า ลิม” บอกว่า ทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในทุกแง่มุมของชีวิตเรา ซึ่งมาพร้อมภัยคุกคามทางไซเบอร์ และในขณะที่ “โซเชียลมีเดีย” เป็นเครื่องมือสำหรับอาชญากรไซเบอร์มาระยะหนึ่งแล้ว

การใช้งานที่แพร่หลายของ AI ถือเป็นเพียงการเพิ่มภัยคุกคามเท่านั้น เนื่องจากเนื้อหาที่สร้างจาก Deepfakes และ AI ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นจริง และเรื่องแต่งมีความคลุมเครือ!?!

ภาพ pixabay.com

“เราต้องมองกลับมาที่ที่ประเทศไทย สังเกตได้ว่าผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ AI ได้อย่างไร จากตัวอย่างล่าสุด มีวิดีโอ Deepfake ของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อดัง ซึ่งเป็นการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุน ได้เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย และมีผู้เยี่ยมชมคนนับพัน ซึ่งตอกย้ำถึงศักยภาพของ AI ในการสร้างเนื้อหาที่น่าเชื่อแต่กลับเป็นเท็จ และพลังของโซเชียลมีเดียในการขยายการเข้าถึงของอาชญากรไซเบอร์”

“ลิซ่า ลิม” บอกว่า การผสมผสานของโซเชียลมีเดียและการสร้างเนื้อหาโดย AI ส่งผลให้อาชญากรไซเบอร์ มีเครื่องมือวิศวกรรมสังคม ที่ทรงพลังในการหลอกล่อผู้คนในแต่ละวันให้มีความเสี่ยง เช่น การคลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย เป็นต้น และมีผู้หลงกลตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

สิ่งสำคัญในการป้องกัน คือ เราต้องพิจารณาเนื้อหาที่เราเห็นอย่างรอบคอบ ตรวจสอบแหล่งที่มา และตรวจสอบความไม่สอดคล้องกันในวิดีโอหรือรูปภาพเพื่อปกป้องตัวเราเอง

ภาพ pixabay.com

นอกจากนี้ ยังควรระมัดระวังในการตรวจสอบ และปรับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีเป็นประจำ เพื่อควบคุมว่าใคร? ที่จะสามารถดูคุณได้ โพสต์และข้อมูลส่วนบุคคล

เราสามารถป้องกันตนเองเพื่อป้องกันภัยคุกคามออนไลน์รูปแบบใหม่ที่เราใช้อยู่ในทุกวันด้วยการใช้อย่างระมัดระวัง!?!

สุดท้ายแล้วเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น แต่อาชญากรไซเบอร์ ก็อาศัยความก้าวหน้านั้น มาใช้เอื้อประโยชน์ในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่เชื่อในภาพที่เห็นและเสียงที่ได้ยินในทันที ต้องกลั่นกรอง ตรวจสอบข้อมูลที่มาที่ไปให้ชัดเจน!!

ก่อนที่จะเชื่อ จะแชร์อะไรบนโซเซียลมีเดีย!?!

Cyber Daily