เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นชาวกรุงลอนดอนโดยกำเนิด เข้าร่วมปีกเยาวชนของพรรคแรงงาน เมื่ออายุ 16 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ และปริญญาโทด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด


เซอร์ สตาร์เมอร์ ได้รับการพระราชทานประดับยศเป็นเซอร์ เมื่อปี 2557 จากผลงานการอุทิศตนและทุ่มเททำงานให้กับการบริการทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม


เมื่อเข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัวในฐานะสมาชิกพรรคแรงงาน เซอร์ สตาร์เมอร์ได้รับการเลือกตั้งสมัยแรก เมื่อปี 2558 ในฐานะสมาชิกสภาสามัญเขตฮอลบอร์นและเซนต์ แพนคราส ในกรุงลอนดอน

ทั้งนี้ เซอร์ สตาร์เมอร์ มีจุดยืนสนับสนุนการให้สหราชอาณาจักร เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไป และขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงาน ควบตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2563 หลังชนะการหยั่งเสียงภายในพรรค เพื่อเฟ้นหาผู้นำคนใหม่ แทนนายเจเรมี คอร์บิน ที่ลาออกหลังนำพรรคแรงงาน พ่ายแพ้การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือน ธ.ค. 2562


ในที่สุด เซอร์ สตาร์เมอร์ ถือเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานคนแรก ในรอบ 19 ปี ที่สามารถนำพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร ต่อจากนายโทนี แบลร์ เมื่อปี 2548 อย่างไรก็ดี ในรอบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมาของการเมืองสหราชอาณาจักร พรรคแรงงานอยู่ในฐานะฝ่ายค้านมากกว่าการเป็นรัฐบาล

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ บนเวทีปราศรัยหาเสียง ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2567


ทั้งนี้ เซอร์ สตาร์เมอร์ ให้คำมั่น ฟื้นฟู “ศักยภาพและประสิทธิภาพ” ของรัฐบาล การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การเก็บภาษีค่าเล่าเรียนของสถาบันการศึกษาเอกชน การแปรรูปบริษัทสาธารณูปโภคและการเดินรถไฟบางแห่งให้เป็นของรัฐ การยกระดับสวัสดิการสาธารณสุขของรัฐ และการจัดอาหารเช้าฟรี ให้กับโรงเรียนประถมศึกษาของรัฐทุกแห่งในสหราชอาณาจักร

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ลงพื้นที่หาเสียง ที่โรงเรียนแพทย์ “ทรี เคาน์ตีส์” ในเมืองวุร์สเตอร์ ทางตะวันตกของเกาะอังกฤษ 29 พ.ค. 2567

ชัยชนะของเซอร์ สตาร์เมอร์ และพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคกลาง-ซ้าย และมีนโยบายไปทางเสรีนิยม นอกจากเป็นการพลิกโฉมการเมืองของสหราชอาณาจักร ครั้งแรกในรอบนานกว่า 1 ทศวรรษ ยังหมายความว่า พลวัตการเมืองของสหราชอาณาจักรกำลังสวนทางกับสถานการณ์บนแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ที่ตอนนี้กระแสฝ่ายขวาและขวาจัดกำลังมาแรง อย่างไรก็ตาม เซอร์ สตาร์เมอร์ ให้คำมั่นยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป


กระนั้น สื่อสหราชอาณาจักรบางแห่งกล่าวว่า เซอร์ สตาร์เมอร์ “มีบุคลิกน่าเบื่อ” และผู้สนับสนุนพรรคแรงงานไม่ค่อยพอใจกับบทบาทของเซอร์ สตาร์เมอร์ ภายในพรรคมากนัก แต่บทวิเคราะห์ของ เดอะ การ์เดียน มองว่า “ความน่าเบื่อของเซอร์ สตาร์เมอร์ น่าจะดีกว่านายบอริส จอห์นสัน และนางลิซ ทรัสส์ สองอดีตผู้นำจากพรรคอนุรักษนิยม ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้สหราชอาณาจักรต้องการผู้นำที่บริหารประเทศได้อย่างสมเหตุสมผล”

แต่การที่ความคาดหวังของประชาชนในระดับสูงมากเช่นนี้ ทำให้เซอร์ สตาร์เมอร์ และรัฐบาลสหราชอาณาจักรชุดใหม่จากพรรคแรงงาน ต้องบริหารจัดการนโยบายด้วยความระมัดระวังอย่างสูงสุด.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES