รื่องของ “AI (Artificial In-telligence)“ หรือ “ปัญญาประดิษฐ์“ ประเทศไทยมีการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ AI Thailand“หรือที่มีชื่อยาว ๆ ว่า “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565-2570)”… ก่อนหน้านี้มีการตีฆ้องร้องป่าวยกใหญ่ว่า…จะช่วยเชื่อมระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ซึ่งนับตั้งแต่วันประกาศแผนนโยบายนี้ในปี 2565 ขณะนี้ก็เหลืออีกเพียงแค่ 3 ปีก็จะครบตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ทั้งนี้ คนไทยก็คงต้องลุ้นเอาใจช่วยให้เมื่อถึงเวลาแล้ว “ยุทธศาสตร์ AI Thailand” ที่ว่านี้จะสมบูรณ์ และใช้ได้ผลจริงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อ…

“ยกระดับคุณภาพชีวิตไทย“ ด้วย AI
AI ช่วยยกระดับศักยภาพประเทศ“

ทั้งนี้ แต่ก่อนจะถึงเวลาที่จะได้รู้กันว่า…แผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติของไทยจะใช้ได้ผลจริงหรือไม่?? เกี่ยวกับความเคลื่อนไหว และความคืบหน้าในการผลักดันเรื่องนี้ กรณีนี้ก็มีอัปเดตน่าสนใจเกี่ยวกับ “โรดแม็ป AI ประเทศไทย“ เกิดขึ้น ดังที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลในวันนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. หนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ และอนุกรรมการของคณะอนุกรรมการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ ก็ได้มีการเผยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เรื่องนี้ไว้ โดยได้ให้ข้อมูลน่าสนใจ…

ข้อมูล “สถานการณ์ AI ประเทศไทย“
สำรวจและพิจารณา“ความพร้อมไทย“
กับ“การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายใหญ่?“

เกี่ยวกับเรื่องนี้สกสว. ได้ชวนคนไทยให้ร่วมสำรวจความพร้อมประเทศไทยไว้ว่า… พร้อมแค่ไหน? กับเทคโนโลยี AIโดยสะท้อนไว้ว่า… “AI” คือเทรนด์เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงและนำมาใช้กันแพร่หลายในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยความโดดเด่นในการประมวลผลข้อมูลที่ชาญฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ ที่ ช่วยสนับสนุนการทำงานด้านต่าง ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งภาคเกษตร การผลิต การค้า และบริการ จึงมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี AI มากกว่า 9.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 …นี่เป็นข้อมูล “การเติบโตของ AI” ทั่วโลก

นอกจากในแง่การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแล้ว ก็ยังพบว่า… AI ยังมีผล ช่วยเพิ่ม GDP ของโลกได้ถึง 7% หรือคิดเป็นมูลค่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งพบว่า… AI ยัง ช่วยยกระดับประสิทธิภาพภาคการผลิตให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ได้ราว 1.5% ต่อปี ขณะที่ในส่วนของประเทศไทย ถ้านำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานก็อาจช่วยเพิ่มผลิตภาพเพิ่มขึ้นได้ราว 0.9% ต่อปี …นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ในส่วนของไทยก็คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นเช่นกัน…โดยเฉพาะในแง่การ “อัป GDP ประเทศไทย”

อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะมีประโยชน์ แต่ข้อมูลโดย สกสว. ก็ชี้ไว้ว่า… ประโยชน์ที่เกิดขึ้นย่อมมาพร้อมกับ “ช่องว่าง“ หรือ “GAP“ ในหลายมิติ เช่นกัน ที่ รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือไว้อย่างมีประสิทธิภาพจึงนำสู่คำถามที่ว่า… ประเทศไทยพร้อมแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้? และได้มีการ “ชวนคนไทยร่วมสำรวจ” ความพร้อมไทยต่อการรับมือ AI

ทั้งนี้ สกสว. ยังได้เผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า… จากการสำรวจความพร้อมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา พบว่า… มีหน่วยงานในไทยเพียง 15.2% ที่นำ AI มาใช้ ส่วนหน่วยงานที่ยังไม่นำ AI มาใช้งานได้ให้เหตุผลที่ยังไม่นำมาใช้ไว้ดังนี้… 1.ยังอยู่ในช่วงศึกษาข้อมูล เนื่องจากไม่ทราบว่าจะนำมาประยุกต์ใช้อย่างไร 2.ยังขาดความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน บุุคลากร งบประมาณ และ 3.ยังไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องนำ AI มาใช้งานในองค์กร …นี่เป็นผลสำรวจ รวมถึงเหตุผลที่ว่าทำไม? บางหน่วยงานของไทยยังไม่ใช้งานเทคโนโลยี AI ซึ่ง…

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องถอดรหัสต่อไป
เพื่อให้แผน AI แห่งชาติมีสัมฤทธิผล

นอกจากผลสำรวจและภาพสะท้อนต่อ “ความพร้อมของประเทศไทย” แล้ว ทาง สกสว. ยังได้จัดทำ “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” เอาไว้ด้วย โดยระบุว่าสาเหตุที่ต้องเสนอแผนดังกล่าวนี้เนื่องจาก ไทยจำเป็นต้องสร้างผู้เชี่ยวชาญในประเทศ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพโดยเฉพาะ “บุคลากรใหม่ด้านดิจิทัล“เพื่อสร้าง Talent ที่เป็น ปัจจัยหลักของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry)ซึ่งจะส่งผลดีต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อหัวของประชากรไทยที่สูงขึ้น ซึ่งข้อเสนอนี้ โดยสรุปคือ…

เร่งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายร่วม ระหว่างบุคลากรด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่น ๆ, เร่งเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านดิจิทัล และส่งเสริมยกระดับให้คนไทยมีความสามารถในการทำงานกับต่างประเทศ, ควรส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูล (Accessibility) ทั้งสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ความยุติธรรมของการเข้าถึงข้อมูล และการเชื่อมต่อกันของข้อมูล, ควรกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมิติต่าง ๆ, เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล และ สร้างพื้นที่สำหรับการวิจัยเทคโน โลยีใหม่ ๆ …นี่เป็นโดยสังเขปของข้อเสนอที่มีการจัดทำไว้…

ตอบโจทย์…AI“ นี่ ไทยพร้อมมั้ย??“
กับ ความท้าทายใหม่“ กับ การใช้“
ให้ “ได้ประโยชน์“ โดย “ไม่สะดุด!!“.