สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ว่า บรรดาเมืองใหญ่ของโลก กำลังเผชิญกับช่วงเวลาซึ่งมีอากาศร้อนจัดมากกว่าในอดีต เนื่องจากอิทธิพลของคลื่นความร้อน โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย

ไอไออีดีรายงานว่า เมืองซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก 20 แห่ง ซึ่งมีประชากรอาศัยรวมกันมากกว่า 300 ล้านคน มีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส มากขึ้นถึงร้อยละ 52 ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ไปจนถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกรุงไคโร ประเทศอียิปต์

ในแต่ละทศวรรษที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเกิดจากมนุษย์ ส่งผลให้มีการบันทึกวันที่อากาศร้อนเพิ่มขึ้นตามเมืองใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์, เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามในอนาคต แต่มันกำลังเกิดขึ้นแล้วและเลวร้ายลง” นายทักเกอร์ แลนเดสแมน นักวิจัยอาวุโสของไอไออีดี กล่าว

“ในเวลาเพียงหนึ่งชั่วอายุคน จำนวนวันของความร้อนจัดที่ส่งผลกระทบต่อเมืองหลวงใหญ่ที่สุดในโลก เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และเลวร้ายลงด้วยผลกระทบจากเกาะความร้อนในเมือง” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเมืองต่างๆ เปลี่ยนที่ดินตามธรรมชาติด้วยถนนและอาคารที่ เก็บความร้อนได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เมืองต่างๆ ในเอเชีย ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่ง ของเมืองหลวงซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดจากคลื่นความร้อนระลอกล่าสุด ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงจีนและอินเดีย

ทวีปเอเชียมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ต่อความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก, ยากจน และผู้คนมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อกาาเกิดน้ำท่วม, ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ติดอันดับเมืองที่ร้อนที่สุด ด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาถึง 4,222 วัน มากกว่าเมืองอื่น ๆ ในช่วงปี 2557-2566 โดยเมืองที่อุณหภูมิสูงถึงเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 44 เทียบกับร้อยละ 35 ระหว่างปี 2537-2546 และร้อยละ 37 ในช่วงปี 2547-2556 เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา กรุงนิวเดลีมีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 49.9 องศาเซลเซียส

ขณะที่ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย มีสถติการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุด ของจำนวนวันที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา จาก 28 วัน ระหว่างปี 2537-2546 เป็น 167 วัน ระหว่างปี 2557-2566

ด้านกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ประสบปัญหาอุณหภูมิเพิ่มขึ้นในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเมื่อปี 2561 กรุงโซลมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 21 วัน และหากเทียบกับเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว กรุงโซลประสบกับอุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นร้อยละ 309 นับตั้งแต่ปี 2537

สภาพอากาศร้อนจัดทำให้เกิดความเครียดต่อโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงทางหลวง, ถนน, สายไฟ และทางรถไฟ ตลอดจนเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน, ไฟดับ และโรคภัยไข้เจ็บ

จากการศึกษาของวิทยาลัยดาร์ตมัธเมื่อปี 2555 ความร้อนจัดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ช่วงปี 2533 ส่งผลให้ประเทศยากจนที่สุด แม้เป็นประเทศซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำที่สุดในโลก แต่ต้องรับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก “การตอบสนองต่อความท้าทายจากความร้อนจัด จะต้องอาศัยการดำเนินการที่กล้าหาญ จากผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงการลงทุนอย่างจริงจังเพื่อปรับตัว” ไอไออีดีกล่าว “สำหรับหลายประเทศ มันไม่ใช่การขาดความรู้, ความสามารถ หรือทรัพยากรที่ขัดขวางการดำเนินการ เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ปัญหาคือการขาดเจตจำนงทางการเมือง และการปกครอง”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES