นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไตรมาส 2/2567 พบว่าอยู่ที่ระดับ 79% ลดลงจากไตรมาส 1/2567 ที่ระดับ 81% สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก ส่วนไตรมาส 3/2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 75% ลดลงจากไตรมาสนี้แต่ดีกว่าปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้สถานการณ์ทางด้านการเงินส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย โดยพบว่ากว่า 58% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด เมื่อเทียบรายได้กับรายจ่ายพบว่ามีเงินเก็บเล็กน้อย และ 80% มีภาระหนี้สินเฉลี่ย 33% ของรายได้ รวมถึงพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยที่ลดความถี่ในการเดินทาง

ขณะที่ไตรมาสที่ 2/2567 ธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสาร บริษัทนำเที่ยว ธุรกิจสปา สถานบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ประเมินรายได้ไตรมาสนี้ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจที่พักแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝากของที่ระลึกรายได้ลดลง ในภาพรวมประเมินว่ารายได้อยู่ที่ 48% เทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ธุรกิจร้านขายของฝากมีการฟื้นตัวของรายได้ช้ากว่าธุรกิจอื่น อัตราการจ้างงานกลับมาแล้ว 99% สิ่งที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญคือการพัฒนาทักษะให้มีคุณภาพสูงขึ้น 

ส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัล Digital Wallet 10,000 บาท จากการสำรวจความเห็นพบว่าผู้ประกอบการ 40% ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่สามารถใช้กับการท่องเที่ยว และ 76% ต้องการให้โครงการเงินดิจิทัล Digital Wallet สามารถใช้กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศได้

นายกิตติ พรศิวะกิจ ประธาน Smart Tourism  ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และกรรมการ ททท. กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งปีแรกถือว่าทำได้ตามเป้าที่ 17.5 ล้านคน ความท้าทายอยู่ที่ครึ่งปีหลัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ 3 สถานการณ์ คือ 1.กรณีฐาน (Worse Case) ถือเป็นรายได้ขั้นต่ำที่ต้องทำให้ได้ 2.7 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 36 ล้านคนคูณกับจำนวนค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 50,000 บาท ต่อคนต่อทริป ก็จะได้ 1.8 ล้านล้านบาท และจำนวนไทยเที่ยวไทยอีก 200 ล้านคนครั้ง คูณกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 4,500 ต่อคนต่อทริปก็จะได้  9 แสนล้านบาท

2. กรณีเลวร้าย​ (Base Case) ซึ่งเป็นเป้าท้าทายที่เป็นไปได้ในจำนวน 3 ล้านล้านบาท มาจากจำนวนนักท่องเที่ยว 38 ล้านคนคูณ 50,000 บาท ต่อคนต่อทริปก็จะได้ 1.9 ล้านล้านบาท และจำนวนไทยเที่ยวไทยอีก 220 ล้านคนครั้ง กับค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,000 ก็จะได้ 1.1 ล้านล้านบาท จากไทยเที่ยวไทย เป้านี้ถือว่าท้าทาย แต่มีโอกาสทำได้สูง สทท. ควรตั้งเป้าหมายที่ 3.02 ล้านล้านบาท ถือเป็น New High เพราะไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติที่ 3.01 ล้านล้านบาท ในปี 2562

3. กรณีเลวร้ายที่สุด (Best Case) คือจำนวนรายได้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ถือเป้าหมายสูงสุดที่ทำได้จากจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน คูณจากรายได้เฉลี่ย 56,000 บาทต่อคนต่อทริป ก็จะได้ 2.24 ล้านล้านบาท และไทยเที่ยวไทยอีก 1.26 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 229 ล้านคนครั้ง และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ 5,500 บาทต่อคนต่อทริป

ดังนั้นโจทย์ที่ต้องทำเพื่อเพิ่มรายได้จาก 2.7 ล้านล้านบาท เป็น 3.5 ล้านล้านบาท จำเป็นที่จะต้องเติมจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 4 ล้านคน จาก 36 เป็น 40 ล้านคน และเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยนักท่องเที่ยวต่างชาติ จาก 50,000 เป็น 56,000 บาทต่อคนต่อทริป รวมถึงเพิ่มจำนวนทริปและค่าใช้จ่ายไทยเที่ยวไทยด้วย