“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุ เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีครั้งใหม่ที่ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ ในระหว่างสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ โดยมีแรงหนุนจากข้อมูลดัชนี ISM ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด
นอกจากนี้เงินดอลลาร์ ยังมีแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ หลังราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นในระยะนี้เพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ในวันศุกร์ (8 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.85 เทียบกับระดับ 33.63 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ต.ค.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (11-15 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.40-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนส.ค. ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาสินค้านำเข้า/ส่งออกเดือน ก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน ต.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อ 21-22 ก.ย. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือน ก.ย. และผลการประชุมของธนาคารกลางเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน