สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ว่า แถลงการณ์ของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัยด้านอาหารเยอรมนี หรือ บีวีแอล (BVL) เมื่อวันศุกร์ ระบุว่า ซีเซียม-137 (Caesium-137) และซีเซียม-134 ความเข้มข้นสูง ที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะ ของการระเบิดจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ถูกพบมาก ในเห็ดป่า ที่เก็บในเยอรมนี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

แต่ตัวอย่างเห็ดป่า 74 ชุดที่เก็บตรวจ ไม่มีชุดใดปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี เกินขีดจำกัด 600 เบคเคอเรล ต่อ 1 กิโลกรัม ตามที่กฎหมายกำหนด

เตาปฏิกรณ์เชอร์โนบิล ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศยูเครนในปัจจุบัน พ่นกากนิวเคลียร์ปริมาณหลายตัน ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และสารกัมมันตภาพรังสีแพร่กระจาย ไปทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป ทำให้สถิติการเกิดโรคมะเร็ง ในประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคใกล้เคียง พุ่งสูง

บีวีแอล กล่าวว่า วัสดุกัมมันตภาพรังสียังตกค้างอยู่ตามป่า เนื่องจากระบบนิเวศของมันแปรรูปสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมายความว่าเห็ดป่าจะแสดงให้เห็นถึงการปนเปื้อนไปอีกนาน นานกว่าผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ

ความวิตกต่อผลกระทบในระยะยาว จากภัยพิบัตินิวเคลียร์ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในประชาคมโลก ต่อการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และในเยอรมนี หลังเกิดเหตุการณ์รั่วไหลที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา ในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิก แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด.

เครดิตภาพ – REUTERS
เครดิตคลิป – DW Documentary