“ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว” ซีรีส์ไทยแนวดราม่า-คอมเมดี้ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ทาง Netflix พูดถึงการตั้งคำถามเรื่องเพศที่ถูกจุดชนวนมาจาก “ปุจฉาพาเสียว” คอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศบนหนังสือพิมพ์ โดยแพทย์ผิวหนัง “ดร.ไคลแมกซ์” (น่าจะได้กลิ่นอายมาจากคอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” ของ “หมอนพพร” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์) ซึ่งปลุกกระแสความเคลื่อนไหวในเรื่องเพศอย่างไม่คาดคิดในสังคมไทยยุค 70 ที่เรื่องเพศเป็นเรื่องต้องห้าม ทำให้ ดร.ไคลแมกซ์ ถูกมองว่าเป็นคอลัมนิสต์ที่ท้าทายขนบธรรมเนียมอันดีงามของสังคมไทยในยุคนั้น
ซีรีส์ความยาว 8 ตอนที่ได้เรต 16+ มีเนื้อหาที่ปลุกเร้า ชวนให้วาบหวิว และหวนคิดถึงอดีต ผลงานจาก 2 ผู้กำกับ “คงเดช จาตุรันต์รัศมี” และ “ปกป้อง-ไพรัช คุ้มวัน” จุดเริ่มต้นมาจากผู้อำนวยการสร้าง “เอกชัย เอื้อครองธรรม” ที่มีไอเดียเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่นำคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศมาทำเป็นซีรีส์ จึงได้แชร์กับผู้กำกับ คงเดช จากนั้นจึงนำตัวอย่างจดหมายที่ถูกตีพิมพ์ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ มานั่งอ่าน แล้วพบว่าสนุกมาก สะท้อนประเด็นมากมายในสังคม ทำให้ คงเดช เกิดไอเดียว่าจะสร้างหมอที่ตอบปัญหาทางเพศจริง ๆ รวมถึงตัวละครอื่น ๆ ทั้งคอลัมน์และหนังสือพิมพ์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
ซีรีส์ “ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว” พาผู้ชมเจาะลึกเรื่องเพศ รวมถึงฉากร่วมรักที่ “เข้มข้นถึงใจ” เมื่อ “หมอนัท” นายแพทย์ผิวหนังและกามโรค ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนนวนิยายแนวผจญภัย จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นคอลัมนิสต์ให้กับคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศ “ปุจฉาพาเสียว” บนหนังสือพิมพ์ “บางกอกทันข่าว” โดยใช้นามปากกาว่า “ดร.ไคลแมกซ์” ตอบปัญหาเรื่องที่ใคร ๆ ก็อยากรู้ แต่ไม่กล้าถาม อย่างเรื่องเซ็กซ์ในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การสำเร็จความใคร่ การหลั่งเร็ว การเล้าโลม กามโรค และคำถามเกี่ยวกับเซ็กซ์โดยผู้ส่งคำถามไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน
คำถามหลากหลายประเด็นเรื่องเพศ จุดประเด็นเป็นที่ถกเถียงในสังคมไทยยุค 70 ล้วนมีเค้าโครงมาจากจดหมายจริงที่ส่งไปถามในคอลัมน์ชื่อดังสมัยก่อน
กระแสคอมเมนต์โลกโซเชียล
หลังได้ชมซีรีส์ ทำให้มีชาวเน็ตพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันผ่านโพสต์ต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับซีรีส์เรื่องนี้ ส่วนใหญ่ต่างพูดถึงถึงคอลัมน์เชื่อว่า เป็นที่มาของ “ดอกเตอร์ไคลแมกซ์ ปุจฉาพาเสียว” แท้จริงแล้วคือ คอลัมน์ “เสพสม บ่มิสม” ของ “หมอนพพร” ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก เรียกได้ว่าถ้าพูดถึงหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ แฟน ๆ ขาประจำต้องนึกถึง “เสพสม บ่มิสม” ของ “หมอนพพร”
“อันนี้ผมคิดว่า หนังเรื่องนี้น่าจะเป็น การคารวะคอลัมน์ เสพสม บ่มิสม มากกว่า เพราะเค้าโครงเรื่องและยุคสมัยที่เรื่องเพศต้องพูดกับคลี่คลายปัญหาที่ในสมัยนั้นไม่ได้เปิดกว้างครับ (แสดงความนับถือหมอนพพร)”
“ชอบอ่านมากสมัยมัธยม เข้าห้องสมุดทีไรต้องไปอ่าน”, “เคยอ่านอยู่นะ เหมือนเป็นกระทู้ถามตอบจดหมายกับทางบ้าน พอมายุคนี้คือคลาสสิกสุด ๆ”, “ตอนเด็กอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ 2 หน้า คอลัมน์ เสพสม บ่มิสม กับ โปรแกรมหนัง”
“หมอนพพร แห่งคอลัมน์ เสพสม บ่มิสม มีคุณูปการต่อผู้ที่มีปัญหาทางเพศสัมพันธ์มาก เพราะผู้ที่มีปัญหาแบบนี้ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เช่น เรื่องภายในของผู้หญิง การติดเชื้อ การมีอาการผิดปกติต่าง ๆ ตลอดจนการปรับตัวเข้าหากันของชีวิตคู่ ที่มีความต้องการที่ไม่สมดุลกันให้เข้าใจกันมากขึ้น ยุติปัญหาจุดเล็ก ๆ ที่อาจบานปลายถึงขั้นเลิกรากันในที่สุด ส่วนคนโสดก็ได้เข้าใจกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น ฝันเปียก การช่วยตัวเองแล้วรู้สึกผิด การตกไข่ การมีเมนส์ น้องสาวสีคล้ำ ฯลฯ ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของมนุษย์”
“ผู้ใหญ่ในวงเหล้าเล่าให้ฟังว่า มีเคสนึงจำฝังใจมาก คือแม่กลัวลูกจะไปเที่ยวหญิงบริการแล้วจะติดโรค เลยนอนกับลูกเองเพื่อป้องกัน ไป ๆ มา ๆ หึงลูกตัวเองที่ไปมีแฟน หมอแนะนำให้เลิกทำแล้วรีบไปพบจิตแพทย์ด่วนเลย ไม่รู้จริงไหมแต่จำฝังใจจนทุกวันนี้เลย”
แล้ว “หมอนพพร” คือใคร?
“..เซ็กซ์เป็นสิ่งที่มนุษย์รู้จักมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มันเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง สัญชาตญาณของการสืบพันธุ์ ถ้าไม่มีเซ็กซ์ มนุษย์ย่อมสูญพันธ์ุไปหมดแล้ว ความรู้เรื่องเซ็กซ์วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ตราบจนปัจจุบันนี้” เป็นเนื้อหาบางช่วงบางตอน หมอนพพร บรรจงเขียนลงคอลัมน์ เสพสม บ่มิสม ครั้งแรก ในเดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2521
ย้อนเวลาถอยหลังกลับไปในอดีต ยุคของสื่อสิ่งพิมพ์หรือใครที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หากมีปัญหาเรื่องเพศ ส่วนใหญ่จะนึกถึง “หมอนพพร” เจ้าของคอลัมน์ เสพสม บ่มิสม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ สามารถตอบปัญหาเรื่องเพศได้แบบสะใจตรงไปตรงมาเกือบทุกเรื่องของทั้งชายหญิง ตอบจดหมายจนโด่งดังคนทั่วบ้านทั่วเมืองรู้จัก ผู้ไขทางสว่างเรื่องเพศ บ้างก็เปรียบเปรยยกให้เป็น “บุรุษผู้พาคนไทย ถึงจุดสุดยอด”
“หมอนพพร” เป็นชื่อนามปากกา แต่ตัวจริงท่านคือ นพ.นวรัต ไกรฤกษ์ อดีตอุปนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้รับการชักชวนจาก “พนมเทียน” (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ศิลปินแห่งชาติ ผู้เขียนนวนิยายแนวผจญภัย เรื่อง เพชรพระอุมา ชื่อก้องเมืองไทยยุคนั้น พนมเทียน เชิญคุณหมอ มาเขียนตอบปัญหาทางเพศลง เดลินิวส์ ฉบับแรก วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2521 เขียนยาวนานกว่า 17 ปี กระทั่งอายุเริ่มขยับใกล้เลข 8 ก่อนคุณหมอจะวางปากกา เคยพูดเอาไว้ว่า “ปัญหาเรื่องเพศไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือสุขภาพของคุณหมอที่เริ่มไม่อำนวย”
กระทั่งปี พ.ศ. 2538 หมอนพพร วางมืออย่างเป็นทางการเขียนเดลินิวส์ ฉบับสุดท้ายวันที่ 24 สิงหาคม 2538 ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข จนถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555 ด้วยวัย 96 ปี (25 มิ.ย. 2459–18 มี.ค. 2555) แต่ในช่วงก่อนจะวางปากกานั้น มีบรรดาคุณหมอหลายท่าน มาฝึกช่วยเขียนตอบปัญหาสุขภาพทางเพศในเดลินิวส์ คุณหมอที่ได้รับความไว้วางใจให้สานงานเขียนต่อคือ “นพ.ออมสิน บูลภักดิ์” ตอนแรก ๆ ยังใช้ชื่อหมอนพพร กระทั่งผลงานเข้าฝักแล้ว จากนั้นวันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 จึงได้ถือกำเนิด “ดร.โอ” มารับไม้ต่อ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน คอลัมน์เสพสม บ่มิสม ยังคงได้รับความนิยมจากผู้อ่านทั่วประเทศ
หากในปี พ.ศ. 2567 หมอนพพร ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมีอายุ 108 ปี เป็นยุคที่โลกมีความหลากหลายทางเพศอย่างมาก หนำซ้ำเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์ก็ต้องกระโจนสู่โลกออนไลน์ เช่นเดียวกับ “คอลัมน์เสพสม บ่มิสม” นอกจากเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์แล้ว ยังถูกนำเสนอผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์เดลินิวส์, เฟซบุ๊ก, ยูทูบ, เอ็กซ์ ฯลฯ คงมีแฟน ๆ ติดตามอ่าน พร้อมเขียนจดหมายและส่งอีเมลเข้ามาสอบถามปัญหาต่อเนื่อง
เรื่องราวที่เคยโลดแล่นในโลกของตัวอักษรผ่านทางหนังสือพิมพ์ กำลังก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์แบบเต็มตัว เร็ว ๆ นี้ห้ามพลาด ! รอรับชม “เสพสม บ่มิสม Stories” ทางช่องยูทูบ dailynewsonline และในทุกแพลตฟอร์มของเดลินิวส์.
ทีมข่าวบันเทิง : รายงาน