เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และผู้ช่วยใกล้ชิดอีก 3 คน ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในชุมชนระหว่างประเทศ โดยปูติน และผู้ช่วยคนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อเด็กและพลเรือน ในพื้นที่ยูเครนซึ่งรัสเซียยึดครอง ขณะที่นายพลรัสเซีย 2 นาย ถูกกล่าวหาว่าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าของยูเครน

ในทำนองเดียวกัน มีการเรียกร้องมากขึ้น ให้นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ รับผิดชอบต่อการจัดหาเสบียงสงครามให้กับปูติน ซึ่งผู้สันทัดกรณีด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ระบุว่า นายคิม อาจถูกตั้งข้อหาช่วยเหลือและสนับสนุนอาชญากรรมสงคราม “เป็นอย่างน้อย” หรืออาจถึงขั้นเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในอาชญากรรมของปูตินได้

เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียมที่ยืนยันว่า เกาหลีเหนือจัดหาอาวุธและกระสุนให้รัสเซีย อีกทั้งทางการยูเครน ก็ยืนยันการใช้ยุทโธปกรณ์เหล่านี้โจมตียูเครน นั่นจึงทำให้เกาหลีเหนือ มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและสนับสนุนอาชญากรรมสงคราม ตามที่ระบุไว้ในธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งและจัดเขตอำนาจศาลของไอซีซี

ด้านศาสตราจารย์ซอง ซัง-ฮยอน ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานของไอซีซี เป็นเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2552 เสนอมุมมองที่ว่า นายคิม อาจเผชิญกับการลงโทษที่รุนแรงกว่าข้อหาช่วยเหลือและสนับสนุนอาชญากรรมสงคราม และเขาอาจถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ร่วมก่ออาชญากรรมร่วมกับปูตินด้วย

อนึ่ง การเรียกร้องให้ไอซีซี ตั้งข้อหากับนายคิม เป็นสิ่งที่มีมานานก่อนเกิดสงครามในยูเครน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และองค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต่างยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง, การกีดกันสิทธิในอาหาร และแรงงานบังคับที่เป็นแรงงานต่างด้าวในเกาหลีเหนือ

ความจริงที่ว่า นายคิมยังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัย ที่ต้องถูกสอบสวนโดยไอซีซี ไม่ใช่เพราะการกระทำของเขามีความร้ายแรงน้อยกว่าอาชญากรรมของปูติน แต่เป็นเพราะว่า มันไม่เป็นไปตามเกณฑ์ในการยื่นคำร้อง

ตามธรรมนูญกรุงโรม การยื่นฟ้องคดีต่อไอซีซี มีเพียง 2 วิธี คือ การยื่นคำร้องจากภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบ หรือการให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เป็นผู้ส่งคดีดังกล่าวต่อศาล ซึ่งจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการดำเนินการตามวิธีทั้งสองแบบแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม อาชญากรรมสงครามของเกาหลีเหนือในสงครามยูเครนได้รับการยืนยันแล้ว นั่นจึงทำให้ทางการยูเครน ซึ่งเป็นเหยื่อ มีโอกาสยื่นฟ้องเกาหลีเหนือต่อไอซีซีได้

นอกจากนี้ อัยการของไอซีซี ยังมีอำนาจในการเปิดการสอบสวนอิสระเช่นกัน ซึ่งถ้ามีการตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อ อัยการจะต้องขอการอนุญาตทางกฎหมายจากคณะผู้พิพากษา ดังนั้น ตอนนี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินคดีอาญากับบรรดาผู้นำเกาหลีเหนือ รวมถึงเรียกร้องให้อัยการของไอซีซี ใช้อำนาจการสอบสวนอิสระ เพื่อรวบรวมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ จากเกาหลีใต้ และยูเครน

ทั้งนี้ การลงโทษได้อย่างรุนแรงที่สุดคือ หมายจับต้องไม่มีอายุความ อีกทั้งผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมสงคราม รวมถึงปูติน ต้องเผชิญกับบทลงโทษโดยพฤตินัย ซึ่งพวกเขาจะถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศสมาชิกของไอซีซี 124 ประเทศ เนื่องจากประเทศสมาชิกมีหน้าที่จับกุม และส่งตัวผู้ต้องสงสัยที่มีหมายจับอยู่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES