หากพูดถึงตลาดหุ้นไทยปีนี้เชื่อว่าบรรดา “แมงเม่า” ทั้งหลายถึงกับต้องกุมขมับหน้าถอดสีไปตาม ๆ กัน เพราะหากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทยได้ปิดตลาดไปที่ระดับ 1,415.85 จุด จนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2567 ที่ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1,298.29 จุด หรืออาจเรียกได้ว่า เพียงแค่ 5 เดือน กับอีก 20 วันเท่านั้น ที่ดัชนีหุ้นไทยได้ร่วงกราวหล่นวูบลงไปถึง 117.56 จุด กันทีเดียว!!

สาเหตุหลัก ๆ ก็เกิดขึ้นจากการที่บรรดานักลงทุนต่างขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย เพราะสารพัดปัญหาที่มีเข้ามามากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะปัญหาการเมืองที่เริ่มร้อนแรงขึ้นเกือบ 1 เดือนเต็ม แม้ว่าจนถึงทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเป็นการซื้อเวลา ทั้งคดียุบพรรคก้าวไกล คดีการยื่นเรื่องถอดถอนนายกฯเศรษฐา ทวีสิน คดีมาตรา 112 ของนายทักษิณ ชินวัตร ขณะที่มีเพียงเรื่องการเลือกตั้งสว.ที่มีความชัดเจนว่าไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญใด ๆ แต่ก่อนหน้าวันพิพากษาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพียง 1 วัน ปรากฏว่าหุ้นไทยได้เกิดอาการระส่ำหนักลดลงไปต่ำสุดในรอบ 4 ปี

งัด“อัพติ๊กรูล”มาสกัด

โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นไทยติดต่อกัน 21 วันทำการรวม 41,285.37 ล้านบาทหากนับรวมตั้งแต่ต้นปีขายออกไปแล้ว 106,681.19 ล้านบาท และยังพบอีกว่าส่วนใหญ่เกิดจาก“การชอร์ตเซลส์” หรือ ยืมหุ้นก่อนคืนทีหลังทำให้ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ต้องรีบออกมาประกาศใช้มาตรการ “อัพติ๊ก รูล” (uptickrule) เพื่อสกัดขาชอร์ตและดั๊มพ์ราคาหุ้นช่วยเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนโดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 67 นี้

อัพติ๊ก รูล” ที่เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือหนึ่งในมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์โดยกำหนดให้ขายชอร์ต(ในทุกหลักทรัพย์) ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายจากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า Zero-plusTickซึ่งเป็นมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์เคยงัดออกมาใช้แล้วเมื่อช่วงโควิดในปี 2563 ที่ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งอย่างหนักและผลปรากฏว่า อัพติ๊ก รูลใช้ได้ผลเกินคาด

มาปีนี้ตลาดหุ้นไทยดำดิ่งลงอีกครั้งทั้ง ๆ ที่โควิดไม่ได้ระบาดหนักหรือเกิดสงครามระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจก็ไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้นแถมท่องเที่ยวยังฟื้นตัวดีกำไรบริษัทจดทะเบียนก็เติบโตได้ส่วนปัญหาการเมืองไม่ได้รุนแรงถึงขั้นประท้วงปิดถนนปิดสนามบินแต่ทำไมตลาดหุ้นไทยยังไม่ผงกหัวขึ้นมา…นั่นจึงกลายเป็นคำถามที่ชวนให้คิด!!

พบช่องโหว่ใหญ่

จากการตรวจสอบของหน่วยงานที่กำกับดูแลตลาดหุ้นที่ผ่านมาจึงพบว่า เกิดจากการขายชอร์ตของนักลงทุนต่างชาติหลังจากระยะ 4 ปีให้หลังนี้โครงสร้างของการซื้อขายหุ้นไทยมี “ช่องโหว่ใหญ่” นั่นคือสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติที่ใหญ่ขึ้นถึงวันละ 50% สวนทางกับนักลงทุนรายย่อยที่เคยซื้อขายจาก 60%
ค่อย ๆ ลดสัดส่วนลงเหลือแค่ 30% ส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศแทบจะไม่มีบทบาทเช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เป็นเสมือนมือปืนรับจ้างของนักลงทุนรายย่อย

เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่าไทยโดยมีการใช้อัลกอริทึมหรือส่งคำสั่งอัตโนมัติในการซื้อขายหุ้นซึ่งเป็นเครื่องมือที่ดีและไวมากสามารถกดราคาหุ้นไว้ทำให้ปรับขึ้นไม่ได้และนักลงทุนรายย่อยก็ไม่กล้าเล่นหรือเข้ามาซื้อขายส่วนโบรกเกอร์ก็เริ่มทำงานได้ยากขึ้นทำงานไม่ทันกับความเคลื่อนไหวของราคาที่กลุ่มต่างชาติใช้อัลกอริทึมซื้อขายอัตโนมัติ”

เชื่อการชอร์ตลดลง

ฉะนั้นการงัด “อัพติ๊ก รูล”ออกมาใช้ครั้งนี้โบรกเกอร์ต่างให้ความเห็นในทางเดียวกันว่าเป็นมาตรการที่นักลงทุนต่างรอคอยมานานเนื่องจากทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมซื้อขายชะลอการส่งคำสั่งไปเลยเพราะการกำหนดราคาครั้งสุดท้ายเท่าไรต้องชอร์ตขึ้นไป ช่องทำให้อัลกอริทึมที่มีอยู่ขายชอร์ตแบบเดิมไม่ได้ก็อาจจะไม่คุ้มที่ทำกำไรต้องกลับไปแก้อัลกอริทึมเขียนโปรแกรมใหม่

แม้เป็นมาตรการที่ไม่สามารถห้ามการชอร์ตเซลส์ได้แต่ก็ทำให้เกิดการชอร์ตน้อยลงเพราะในช่วง 1-2 ปีมานี้พบว่ามูลค่าการชอร์ตเซลส์สูงขึ้นอย่างมากเมื่อหารกับมูลค่าการซื้อขายในตลาดทั้งหมดเกินกว่า 10% เกือบทุกวันซึ่งหากเทียบกับช่วงก่อนโควิคที่มีการชอร์ตเซลส์ 4,000-5,000 ล้านบาทที่คิดเป็น 5% ของมูลค่าการซื้อขายและในช่วงโควิดที่มีมูลค่าการซื้อขายกันวันละ 80,000-100,000 ล้านบาท การชอร์ตเซลส์เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 5,000-8,000 ล้านบาท คิดเป็นวันละ 8% ของมูลค่าการซื้อขายเท่านั้น

จึงเห็นได้ชัดเจนว่าต่างชาติเข้าถึงเครื่องมือได้เร็วกว่าใช้กลยุทธ์ได้หลากหลายกว่าและเข้าถึงการชอร์ตเซลส์ได้ดีกว่าและหลังจากใช้อัพติ๊ก รูลช่วงโควิด ปรากฏว่าการชอร์ตลดลงทันตาเห็นเหลือเพียงแค่วันละ 1,000 ล้านบาทหรือ 1% ของมูลค่าการซื้อขายติดต่อกันนานถึง 5 เดือน

แต่ผลที่ตามมาใช่ว่าจะทำให้ราคาหุ้นไทยปรับขึ้นเพียงแค่ทำให้เราไม่เห็นเหตุการณ์การกดขยี้หุ้นและหากราคาหุ้นจะปรับขึ้นอาจต้องมีปัจจัยเรื่องอื่นมาช่วยเช่น จีดีพีประเทศดีมากกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัวรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างดีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดี”

เชียร์กองทุนแอลทีเอฟ

ขณะเดียวกันปัญหาของหุ้นไทยขณะนี้การประเมินมูลค่าค่อนข้างจะแพงนั่นคือ ระดับดัชนีไม่ได้เหมาะสมกับศักยภาพการเติบโตเนื่องจากในอดีตหุ้นไทยเรามีกองทุนแอลทีเอฟหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวโดยหนึ่งในผู้เล่นหลังก็คือกองทุนดังกล่าวมีการซื้อหุ้นตลอดเวลาแต่ทุกวันนี้คนที่เคยมีแอลทีเอฟไว้ในอดีตขาดทุนจนต้องขายหุ้นออกมา ส่งผลให้สภาพตลาดไม่มีแรงอุ้มและมีเพียงฝั่งต่างชาติที่เข้ามาซื้อขายระยะสั้นด้วยอัลกอริทึม

ฉะนั้นหากต้องการให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นมาจะต้องมีสภาพคล่องที่ดีเช่น ต่างชาติกลับมาซื้ออย่างจริงจังหรือนำ “กองทุนแอลทีเอฟ” ที่เน้นการลงทุนในหุ้นไทยกลับมาใช้เพราะในอดีตที่เราเคยมี 3 กองทุนประหยัดภาษีได้แก่ แอลทีเอฟ เอสเอสเอฟ ไทยอีเอสจี ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วแอลทีเอฟประหยัดภาษีดีที่สุดเพราะวงเงินประหยัดภาษีได้ 500,000 บาทถือเพียงแค่ 7 ปีปฏิทิน และลงทุนในตลาดหุ้นไทยล้วน ๆ ซึ่งก็ช่วยตลาดหุ้นไทยได้เต็ม ๆ

“ตอนมีกองทุนแอลทีเอฟ ที่ดันเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเดือนละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ส่วนกองทุนเอสเอสเอฟ และกองทุนไทยอีเอสจี มีเงินไหลเข้าเพียงเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาทต้น ๆ เท่านั้น”

ความพยายามในการฉุดดึงดัชนีหุ้นไทยให้ผงกหัวกลับขึ้นมาด้วยมาตรการ “อัพติ๊ก รูล” ครั้งนี้จึงถือว่ามาถูกทางแล้วแต่หลังจากนี้จะสามารถสกัดขาชอร์ตและเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้จริงหรือไม่ต้องรอดู 1 .. 67วันที่เริ่มใช้มาตรการจริงและหลังจากนั้นกองทุนแอลทีเอฟที่หลาย ๆ คนเรียกร้องให้นำกลับมาใช้จะมาหรือไม่หรือจะมาในรูปแบบไหนเพื่อช่วยให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีเสน่ห์มากยิ่งขึ้นต้องรอติดตามกันต่อ…!!