จึงเป็นของหวานเป็นที่นิยมในยุคนี้ที่ขายดิบขายดี แต่หลายคนคงสงสัยแล้วคำว่าสิงคโปร์มาจากไหน เป็นชื่อที่เรียกบริเวณที่ตั้งร้านนี้ที่ทำเป็นเจ้าแรก วันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาแนะนำคนที่กำลังมองหาอาชีพอิสระ

ผู้ที่จะให้ข้อมูลเรื่องนี้ คือ นาภิญญดา ศรุตธนขจร อายุ 38 ปี เจ้าของลอดช่องสิงคโปร์แป้งสด “ภิญญดา” และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบางบัวทอง จ.นนทบุรี ซึ่งเล่าที่มาของอาชีพให้ฟังว่า ทำลอดช่องสิงคโปร์ขายมาได้ 2 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้นก็อยู่บ้านช่วยแม่ทำมะม่วงแช่อิ่มสูตรโบราณขาย แช่นํ้าผึ้ง ไม่มีสารสี และสารกรอบ ช่วงหลังโควิดระบาดยอดขายตก จึงคิดหาอาชีพเสริมมาเพิ่ม ตั้งโจทย์ว่าต้องเป็นสินค้าที่ลูกค้าจับต้องได้ คนไทยกินกันได้แบบง่าย ๆ เอกลักษณ์เป็นไทย เลยคิดเองว่าน่าจะเป็นลอดช่องสิงคโปร์ เพราะว่ามันเหมาะกับบ้านเราที่มีหน้าร้อน กินแล้วสดชื่น

ช่วงนั้นโควิดยังระบาดอยู่ ทุกคนถูกกักตัวอยู่กับบ้าน เราก็ลงเรียนการทำลอดช่องสิงคโปร์จากออนไลน์ แล้วก็ซื้อแป้งมาลองทำเส้นดู แรก ๆ ยังไม่เป็นเส้นยาว เพราะบล็อกกดเส้นต้องใช้แรงเยอะ เลยประยุกต์ที่กดเส้นเองโดยใช้ผ้าขาวม้าเจาะรูใส่ปล้องเหล็กแบบที่บีบหน้าเค้ก ทำไปเรื่อย ๆ ก็ถนัด เส้นสวยและยาวกำลังดี ออกขายครั้งแรกที่งานกาชาด สวนลุมพินี ปี 65 ขายดีมากตักไม่ทันเลย ที่ร้านจะไม่ใส่ขนุน กลิ่นฉุน และทำให้นํ้าเชื่อมเสียง่าย แต่จะใช้วิธีอบควันเทียนแทนแบบโบราณ ๆ ตัวมี 3 สี คือสีเขียวจากใบเตย, สีชมพูจากบีทรูท และสีม่วงจากอัญชัน นอกจากนี้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ไม่ทานกะทิ จึงเพิ่มเมนูเฉาก๊วยนมสด สูตรโบราณไว้บริการด้วย”

นา บอกอีกว่า ลูกค้าซื้อกลับบ้านและไม่รู้ว่าจะกินตอนไหน เธอก็จะแยกเส้น แยกนํ้ากะทิ และนํ้าเชื่อม เมื่อจะรับประทานก็เทผสมรวมกันในแก้วที่ให้ไป เติมนํ้าแข็ง ใช้ช้อนคนให้เข้ากัน แค่นี้ก็อร่อยแล้ว สำหรับลอดช่องสิงคโปร์ของที่ร้านเก็บไว้ในตู้เย็น 2-3 วัน

อุปกรณ์ ที่ใช้ในการทำขนมก็มี…ผ้าขาวบางเจาะรูใส่ปล้องเหล็กที่บีบหน้าเค้ก (ทำขึ้นเอง), เตาแก๊ส, กระทะทอง, หม้อสเตนเลสขนาดใหญ่, กะละมัง, กระบวย, กระชอน, ไม้พาย และเครื่องไม้เครื่องมือเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ หยิบยืมเอาจากในครัวได้

วัตถุดิบ หลัก ๆ มี…แป้งมันสำปะหลัง, นํ้าตาลทราย, กะทิกล่อง(พาสเจอร์ไรส์), เกลือป่น, ใบเตยสดล้างสะอาดหั่นเป็นท่อน, นํ้าสะอาด, เทียนสำหรับอบขนม และถุงกรองชา

ขั้นตอนการทำ “ลอดช่องสิงคโปร์”

นำใบเตยที่ล้างสะอาดแล้วมาหั่นเป็นชิ้นหยาบ ๆ ใส่เครื่องปั่น เทนํ้าเปล่าลงไปเล็กน้อย เปิดเครื่องปั่นให้ละเอียด

เทใส่ถุงกรองชา กรองเอาแต่นํ้าใบเตย ตั้งพักไว้..ทำนํ้าเชื่อม โดยเตรียมหม้อต้ม ใส่นํ้าตาลทราย 500 กรัม, นํ้าสะอาด 500 กรัม และใบเตย 1 ใบ ม้วนจนเป็นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ใส่ตามลงไป ยกขึ้นตั้งไฟ ใช้ไฟกลางค่อนไฟแรง พอนํ้าตาละลายดี ให้เคี่ยวต่อไปเรื่อย ๆ โดยใช้ไฟอ่อน จนเป็นนํ้าเชื่อมแล้ว ให้ปิดเตา ตั้งพักให้เย็น

นํ้ากะทิ เทกะทิ 500 กรัม ลงในหม้อต้ม ใส่เกลือ 2/3 ช้อนชา นำไปตั้งไฟ ใช้ไฟกลางค่อนไฟอ่อน ใช้ไม้พายคนตลอด เพื่อไม่ให้กะทิแตกมัน พอนํ้ากะทิร้อนจัดแล้ว ให้ปิดเตา ยกลงตั้งพักไว้ให้เย็นสนิท

ต่อไป เทนํ้าใบเตยที่กรองไว้ลงในหม้อต้ม ต้มให้เดือด เสร็จแล้ว เทผสมกับแป้งมัน 250 กรัมทันที ใช้ไม้พายนวดแป้ง ถ้าจับตัวเป็นเนื้อเดียวกันและมีสีเขียว ตั้งหม้อต้มนํ้าให้ร้อนจัด ตักแป้งใส่บล็อกแล้วกดเส้นลงในหม้อต้ม 7-10 นาที และให้คอยคนเพื่อไม่ให้เส้นติดกัน เมื่อเส้นสุกดีแล้ว ใช้กระชอนตักเอาเส้นลอดช่องขึ้นมาล้างในนํ้าเย็นอีก 4-5 รอบ เพื่อล้างเอาคราบแป้งมันออก เสร็จแล้ว ให้ตักขึ้นพักให้สะเด็ดนํ้า แล้วนำนํ้าเชื่อมที่ต้มไว้มาเทลงไป แช่เส้นลอดช่องไว้ เพื่อไม่ให้เส้นอืด

จัดเสิร์ฟ ตักเส้นลอดช่องใส่แก้ว เติมนํ้าเชื่อมลงไปเล็กน้อย ตักนํ้ากะทิที่เคี่ยวไว้ลงไป โปะด้านบนด้วยนํ้าแข็งไสหรือก้อนเล็ก ใช้ช้อนคนให้เข้ากัน เป็น
อันเสร็จ

ราคาขาย “ลอดช่องสิงคโปร์” เจ้านี้ ขายแก้วละ 20 บาท และชุดจัดเบรก แก้วละ 25 บาท

นี่ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” ที่นำมาฝากกัน ใครในพื้นที่อื่นสนใจอาชีพนี้ก็ลองนำสูตรไปฝึกฝนกันดู หรือ ใครอยากลองชิม “ลอดช่องสิงคโปร์” เจ้านี้ ขายวันจันทร์ ที่กรมส่งเสริมการเกษตร (ม.เกษตรฯ), วันพุธ ที่กระทรวงพาณิชย์, วันพฤหัสบดี ที่กรมป่าไม้ และวันศุกร์ ที่กรมอนามัย (กระทรวงสาธารณสุข) ใครต้องการสั่งไปใช้ในเทศกาลงานต่าง ๆ งานจัดเบรกงานประชุม ติดต่อ นา-ภิญญดา ศรุตธนขจร เจ้าของกรณีศึกษารายนี้ ได้ที่ 09-5987-9900, 09-7353-0796 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกอาชีพที่น่าพิจารณา.

คู่มือลงทุน…ลอดช่องสิงคโปร์
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60% ของราคาขาย
รายได้ ราคา 20 บาท/ แก้ว
แรงงาน 1-2 คน
ตลาด ตลาดนัด, ตลาดนํ้า แหล่งชุมชน
จุดน่าสนใจ เมนูคลายร้อยขายดีตลอด

—————
เชาวลี ชุมขำ

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่