“ในยุคไคลเมทเชนจ์ (Climate Change) เราต้องรู้จักเก็บเป็น บริหารเป็น และใช้เป็น ถึงจะรอด“…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุถึงเรื่อง “น้ำ“ ไว้โดย ดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโอกาสที่มีการจัดกิจกรรมต่อยอดความยั่งยืนสู่ชุมชน ณ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีโดยคณะผู้บริหาร และพนักงาน บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และเกษตรกรในพื้นที่ชุมชน…

“น้ำ“ ที่ เก็บเป็น-บริหารเป็น-ใช้เป็น“
ชุมชนแห่งนี้ก็เป็น พื้นที่กรณีศึกษา“

ทั้งนี้ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง นั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯซึ่งมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นประธานกรรมการ ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมเรื่องการ“บริหารจัดการน้ำชุมชน“ ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทาง ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมี บุญเกียรติ โชควัฒนา เป็นประธานกรรมการ เป็นส่วนหนึ่งของเอกชนที่ร่วมให้การสนับสนุนตั้งแต่ปี 2560 โดยสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการต่าง ๆ

เช่น… การปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่ พร้อมระบบกระจายน้ำในแปลงเกษตรผสมผสานตามแนวทางทฤษฎีใหม่ การสร้างอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต เพื่อจัดเก็บและตกแต่งผลผลิต บรรจุ ส่งตรงถึงผู้บริโภค โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งตรงโกลเด้นท์เพลส ภายใต้ชื่อ “ไร่ชีวิตพอเพียงเพ็ชร์บุรี” การสร้างหอเก็บน้ำต่างระดับ 10 หอ เพื่อนำน้ำจากสระขนาด 23 ไร่ กระจายให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกที่มีกว่า 500 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค การปรับปรุงโรงเรือนสำหรับปลูกผัก รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างเชื่อมโยงระบบน้ำในพื้นที่เพิ่มเติม และติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับอาคารบรรจุและเก็บรักษาผลผลิต ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้เกือบ 30%

และล่าสุดในปีนี้ ที่เน้น “ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว” ซึ่งจะ “มีผลดีต่อทรัพยากรน้ำ” นั้น…อันสืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมเมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มี “แง่มุมเรื่องน้ำ” ที่น่าสนใจในเชิง “กรณีศึกษา” โดยนอกจากส่วนที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ทาง ดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ก็ยังได้ระบุไว้ถึงผลกระทบจาก “ยุคไคลเมทเชนจ์“ว่า… “เราพบว่าคนที่สร้างปัญหามากที่สุดคือคนเมือง แต่คนที่ได้รับผลกระทบสูงที่สุดกลับเป็นคนชนบท“

ผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนข้อแรกคืออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ข้อ 2 คือเกิด “เอลนีโญ” อากาศจะแล้ง…แต่มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น หรือเกิด “ลานีญา” ฝนควรจะเยอะ…มันก็กลับไม่เป็นอย่างนั้น นี่ก็เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนที่เจอกันตอนนี้… “และก็มีความเข้าใจที่ผิดหลายเรื่อง เช่น โลกร้อนแล้วฝนจะน้อยลง แต่ปรากฏว่าอัตราการระเหยของทะเลมันสูงขึ้น ซึ่งทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น แต่ก็จะเว้นระยะเวลายาวขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นเวลาที่ฝนตกเราจึงจำเป็นต้องมีที่เก็บน้ำฝน“

ดร.รอยล ยังระบุต่อไปว่า… เรื่องการเก็บน้ำฝนนั้น สมัยก่อนเรามองว่าต้องเป็นหน้าที่กรมชลประทาน แต่ในยุคปัจจุบันแทนที่ฝน
จะตกเหนือเขื่อน…กลับตกที่ท้ายเขื่อน ก็ส่งผลถึงการทำที่เก็บน้ำฝน…แทนที่จะไปอยู่บนเขาก็ต้องเปลี่ยนมาอยู่ในพื้นที่ราบในชุมชน และเรื่องนี้ สระขนาดใหญ่ที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งก็เป็นบทพิสูจน์ ซึ่งเมื่อเกิดเอลนีโญ น้ำจะต้องแล้ง แต่ถึงตอนนี้ (11 มิ.ย.) น้ำก็ยังไม่น้อยลง ฉะนั้น ในยุคไคลเมทเชนจ์ถ้าเรารู้จักเก็บเป็น บริหารเป็น และใช้เป็น ก็จะรอด

ทางผู้สันทัดกรณีท่านดังกล่าวยังระบุไว้ถึงแนวทางบริหารจัดการให้ยั่งยืนว่า… จะให้เกิดความยั่งยืน ต้องคิดทุกอย่างแบบภาพรวม ต้องคิดแบบหลายด้าน ไม่ใช่ว่าสร้างเขื่อนแต่ไม่สร้างคลอง สร้างสระน้ำแต่ไม่สร้างระบบส่งน้ำ ไม่ใช่ว่าสร้างเป็นเรื่อง ๆแต่ไม่เชื่อมต่อกัน ต้องคิดทุกอย่างแบบภาพรวม และต้องคิดแบบหลายด้านด้วย เช่น น้ำมาเมื่อไหร่ จะเก็บน้ำอย่างไร และจะนำน้ำไปใช้ปลูกพืชอย่างไร ซึ่งพืชที่ปลูกต้องใช้น้ำน้อยหรือน้ำเยอะก็ต้องให้เหมาะสม

รวมถึงต้องคิดว่าปลูกแล้วจะขายอย่างไร ไปจนถึงจะขนส่งอย่างไรด้วยยกตัวอย่างที่ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ที่นี่มีการนำผลผลิตมาแพ็กรวมกันแล้วส่งต่อไปขาย มีขยะจากการตัดแต่งผลผลิต 40% ก็เอาไปเป็นปุ๋ยได้ แทนที่จะต้องขนส่งผลผลิตน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ก็ขนแค่ 60 กิโลกรัม ทำให้ค่าขนส่งถูกลง นี่คือการมองถึงภาพรวม ตั้งแต่เรื่องน้ำ เรื่องเพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิต ไปจนถึงเรื่องการแพ็ก การขนส่ง ซึ่ง ต้องสร้างระบบความรู้ทั้งหมดให้อยู่ที่คน ต้องมีการทำงานเป็นทีมต้องมีการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งคือสิ่งที่ “ในหลวงรัชกาลที่ 9“ ท่านทรงทำมาตลอด 70 ปี เพื่อให้ความรู้อยู่คู่ชุมชน

ทั้งนี้ กับการ “ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว“ต่อยอดความยั่งยืนสู่ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง โดยไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และเกษตรกรในพื้นที่ ทาง ดร.รอยล ก็ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า… พื้นที่ราบ…จำเป็นต้องมีป่า-มีพื้นที่สีเขียวประมาณร้อยละ 40 พื้นที่เพาะปลูกกับที่อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 60 แต่ถ้าเป็น พื้นที่บนเขา…ควรมีพื้นที่ป่าสีเขียวประมาณร้อยละ 50-60 และประมาณร้อยละ 40 เป็นที่อยู่อาศัยกับพื้นที่เพาะปลูก… “ถามว่านี่จะสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร? ก็คือสามารถรักษาเสถียรภาพของอุณหภูมิให้ไม่เปลี่ยนวูบวาบ ยกตัวอย่างที่นี่ อุณหภูมิ 27 องศาฯ เช้ามาอากาศเย็น แต่ลมไม่แรง ซึ่งต่างกับกรุงเทพฯ ที่ตอนนี้เจอต้นไม้ล้มจากลมพัดแรง ที่เกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่สูง“

จากกิจกรรมที่ชุมชนนี้ยังมีแง่มุมดี ๆ
มี แง่คิดจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล“
“ยิ่งน่าสนใจ“…ตอนต่อไปมาดูกัน…