สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ว่า นพ.จอห์น เอ็นเคนกาซอง ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกา ( แอฟริกา ซีดีซี ) กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า การที่องค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) "อนุมัติอย่างเป็นทางการ" ให้มีการใช้งานวัคซีน "อาร์ทีเอส,เอส" หรือ "มอสควิริกซ์" ในฐานะวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียตัวเแรกของโลก เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับชาวแอฟริกัน เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้ มาลาเรียอาจเป็นโรคที่คร่าชีวิตประชากรในทวีปแอฟริกา มากกว่าโรคโควิด-19 เสียอีก
ทั้งนี้ แอฟริกา ซีดีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับภูมิภาคทุกแห่ง จะเดินหน้าหารือกับดับเบิลยูเอชโอ และองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน ( กาวี ) เพื่อให้ทุกประเทศในทวีปแอฟริกาสามารถเข้าถึงวัคซีนมอสควิริกซ์ได้อย่างทันท่วงทีที่สุด ขณะเดียวกัน นพ.เอ็นเคนกาซองเรียกร้องประชาคมโลก "อย่าลืมว่ามาลาเรียคือเพชฌฆาต"
ขณะที่บริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ของสหราชอาณาจักรซึ่งพัฒนาวัคซีนมอสควิริกซ์ โดยใช้เทคโนโลยีโปรตีนซับยูนิต เปิดเผยว่าศักยภาพของการผลิตวัคซีนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณปีละ 15 ล้านโด๊ส แต่จะพยายามยกระดับสายงานการผลิตหลังปี 2571 ส่วนราคาจำหน่ายวัคซีนมอสควิริกซ์ในปัจจุบันยังคงจำหน่ายเท่าทุน หรือ "บวกลบไม่เกิน 5% ของราคาต้นทุน"
อนึ่ง แกล็กโซสมิธไคลน์ใช้เวลาพัฒนาวัคซีนมอสควิริกซ์นานกว่า 30 ปี และนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้ร่วมกับดับเบิลยูเอชโอ แจกจ่ายวัคซีนไปแล้วมากกว่า 2.3 ล้านโด๊ส ให้แก่ทารกและเด็กเล็กในกานา เคนยา และมาลาวี 
แม้ "ประสิทธิภาพ" ของวัคซีนตัวนี้ยังคงเป็นคำถาม เนื่องจากผลการทดสอบทางคลินิกระยะที่สาม ปรากฏว่า วัคซีนมอสควิริกซ์ต้องฉีดมากถึง 4 เข็ม มีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเสียชีวิตประมาณ 30% และระดับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง หลังฉีดครบคอร์สไปแล้ว 4 เดือน อย่างไรก็ตาม นพ.อเลฮันโดร คราวิโอโต หัวหน้าฝ่ายวัคซีนของดับเบิลยูเอชโอ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย "เป็นงานหิน" และเต็มไปด้วยความท้าทายอย่างมาก จากการที่โรคนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว และมีพาหะคือยุงก้นปล่องเพศเมีย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES