การถกเถียงเกี่ยวกับการจัดการการทดสอบที่ผิดพลาด เพื่อขอรับการรับรองจากรัฐบาล เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยอีก 1 สัปดาห์ให้หลัง เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ได้เข้าตรวจสอบบริษัทยานยนต์ 5 แห่งของประเทศ ได้แก่ โตโยต้า, ฮอนด้า, มาสด้า, ซูซูกิ และยามาฮ่า

ภายหลังการพบความผิดปกติเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 และเดือน ม.ค. 2567 ที่บริษัท ไดฮัทสุ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้า และบริษัท โตโยต้า อินดัสทรีส์ รัฐบาลโตเกียวจึงสั่งให้ผู้ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ภายในประเทศ 85 ราย ตรวจสอบกระบวนการตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัท 70 แห่ง ส่งผลการตรวจสอบ โดยมีบริษัท 5 แห่ง ระบุถึงการละเมิดกฎระเบียบ

ทั้งนี้ ความผิดปกติส่วนใหญ่เกิดจากการทดสอบภายในบริษัท ที่ดำเนินการระหว่างการผลิต และอยู่ภายใต้เงื่อนไขเข้มงวดกว่าที่กำหนด โดยไม่มีการทดสอบซ้ำตามมาตรฐานของรัฐบาล เนื่องจากแรงกดดันด้านเวลา รวมถึงจำนวนและความซับซ้อนของสินค้า ตลอดจนการตีความระบบการรับรองระดับประเทศ “ที่แตกต่างกัน”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการตรวจสอบกลับพบว่า รถยนต์ทุกคันสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และประเด็นสำคัญอย่างความปลอดภัย ก็ไม่มีการละเลยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดด้วย นอกจากนี้ บริษัทที่ถูกกล่าวหายังไม่มีการเรียกคืนรถยนต์ของพวกเขาเช่นกัน

สิ่งที่น่าสังเกตคือ รถยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบของไดฮัทสุ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการทดสอบที่ผิดพลาด ผ่านการทดสอบด้านความปลอดภัยครั้งใหม่ด้วยคะแนนที่ยอดเยี่ยม และกลับมาวางจำหน่ายในโชว์รูมอีกครั้ง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ญี่ปุ่นอาจมีความเข้มงวดในกฎระเบียบ “มากเกินไป” หรือไม่ แม้ว่าสิ่งนี้ช่วยสร้างชื่อเสียงในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่น มาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม

นายซาโตรุ อาโอยามะ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมญี่ปุ่น และผู้อำนวยการอาวุโสจากบริษัท ฟิตช์ เรทติงส์ กล่าวว่า กระบวนการที่ล้าสมัยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ขัดขวางนวัตกรรม และไม่สมจริง เมื่อพิจารณาจากแรงกดดันในโรงงาน ที่จะบรรลุโควตาการผลิต

“การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถือเป็นปัญหาที่ร้ายแรง และไม่สามารถแก้ต่างได้ แต่ในขณะเดียวกัน กระบวนการรับรองของญี่ปุ่น ก็ไม่เคยได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลายเป็นปัญหาคอขวดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์” อาโอยามะ กล่าวเพิ่มเติม

กระนั้น นักวิเคราะห์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า แม้รถยนต์ญี่ปุ่นที่ถูกกล่าวหา ไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย และความผิดปกติที่เกิดขึ้น จำกัดอยู่ที่การรับรองโดยทางการญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดขายในต่างประเทศ แต่ถ้าปัญหาการกำกับดูแลเหล่ายังคงดำเนินต่อไป มันอาจทำลายชื่อเสียงของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น และนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบในระดับโลกได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP