เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการเปิดเดินรถไฟทางคู่ สายใต้ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร และการพัฒนาลานกองเก็บสินค้าตู้คอนเทเนอร์ (Container Yard :CY) ที่สถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ซึ่งปัจจุบันที่สถานีสะพลี มีเอกชนผู้ประกอบการ 2 รายมาใช้บริการขนส่งยางพาราบรรจุใส่ตู้คอนเทเนอร์ โดยมีรถยกตู้คอนเทเนอร์ (reach stacker) 1 คัน เพื่อยกขึ้นแคร่บรรทุกสินค้าตู้คอนเทเนอร์ (บทต.) ในการขนส่งทางรถไฟ และในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. ของทุกปี ในพื้นที่จังหวัดชุมพร เป็นฤดูทุเรียน ซึ่งในปี 66 มีการขนส่งทุเรียนทางรางไปยังเมืองคุณหมิง และกว่างโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ค. 66 รวมประมาณ 150 ตู้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในปี 67 ได้เริ่มมีการขนส่งทุเรียนจากภาคตะวันออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางรถไฟประมาณ 300 ตู้แล้ว และได้มีการขนส่งทุเรียนใส่ตู้คอนเทเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟเส้นทางสะพลี-มาบตาพุด ตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. 67 จำนวน 15 ตู้ต่อครั้ง วิ่งวันเว้นวัน เพื่อไปรวมกับทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก ก่อนขนส่งไปสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป อย่างไรก็ตามการเปิดใช้ทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ระยะทาง 420 กิโลเมตร (กม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 67 ประกอบกับการเปิดใช้ทางคู่ช่วง ชุมถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. เมื่อปี 62 ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางรถไฟรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันสถานีสะพลี มีพื้นที่ลานกองเก็บตู้สินค้า 9 พันตารางเมตร (ตร.ม.) จึงสามารถที่จะพัฒนาสถานีสะพลี ให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าทางรถไฟภาคใต้ได้

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) ในฐานะผู้ประกอบการที่ขนส่งทุเรียนผ่านทางรถไฟ มีแผนจะขนส่งทุเรียนด้วยตู้คอนเทเนอร์แบบควบคุมความเย็น (reefer container) ทางรถไฟ ในเส้นทางสะพลี-หนองคาย ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อส่งต่อไปยังนครคุณหมิง และอีก 4 มณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย โดยจากการประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท GML จะมีการปรับปรุง CY ที่สถานีสะพลีเพิ่มเติม อาทิ การติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างพร้อมปลั๊กเสียบ เพื่อรองรับตู้คอนเทเนอร์แบบควบคุมความเย็น

การติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด และเพิ่มรถยกตู้คอนเทเนอร์ เพื่อรองรับการขนส่งทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมกันนี้ยังได้ปรับตารางเวลาเดินรถไฟขบวนขนส่งทุเรียน เพื่อลดระยะเวลาในการขนส่งเส้นทางสะพลี-หนองคาย จากเดิม 4 วัน เหลือ 2 วัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการขนส่งสินค้าทางราง ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน และลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการขนส่งด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันการขนส่งสินค้าจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังต้องผ่านสะพานพระรามหก ซึ่งมีข้อจำกัดไม่สามารถเดินขบวนรถไฟสวนกันบนสะพานพระรามหกได้ รวมทั้งการขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพฯ จะขนส่งได้เฉพาะช่วงเวลา 22.00-04.00 น.

จึงได้มอบหมายให้ รฟท. ศึกษาความเหมาะสมเส้นทางสายใหม่ เชื่อมชุมทางหนองปลาดุก กับชุมทางบ้านภาชี ซึ่งปัจจุบันมีทางรถไฟเลี่ยงเมือง (chord line) ที่เป็นทางคู่เชื่อมต่อไปยังภาคต่างๆ ได้สะดวก โดย รฟท. ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษา และขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อออกแบบรายละเอียด ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ในโอกาสนี้ได้นั่งขบวนรถไฟพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM ไปยังสถานีทุ่งมะเม่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ใกล้ชายทะเล โดยมอบให้สำนักงานขนส่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หารือกับ รฟท. และท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผ่านการประชุมระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อพิจารณาจัดรถขนส่งสาธารณะมารองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟ กับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ให้บริการเดินรถขนส่งสาธารณะ (operator) โดยขออนุญาตกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ผ่านคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง ที่กำหนดลักษณะรถ และเส้นทางการเดินรถขนส่งสาธารณะ ก่อนดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้ รฟท. จัดเตรียมพื้นที่บริเวณย่านสถานีรถไฟที่สำคัญ เป็นที่จอดระบบขนส่งสาธารณะ (feeder) ในรูปแบบขนส่งแบบไร้รอยต่อระหว่างรถกับราง เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสาร ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และประเทศได้อย่างดี.