เลบานอนกล่าวหาว่า อิสราเอลใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาว ในการโจมตีซึ่งเป็นอันตรายต่อพลเรือนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ฟอสฟอรัสขาว เป็นสารที่ติดไฟเมื่อสัมผัสกับก๊าซออกซิเจน ซึ่งมันสามารถสร้างม่านควันหรือแสงสว่างในสนามรบได้ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้, บาดแผลไฟไหม้รุนแรง, ความเสียหายต่อระบบทางเดินทางใจ, ภาวะอวัยวะล้มเหลว ตลอดจนทำให้เสียชีวิตได้

“การที่ใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวในวงกว้างของอิสราเอล ทางตอนใต้ของเลบานอน ทำให้พลเรือนตกอยู่ในความเสี่ยงร้ายแรง และส่งผลให้เกิดการพลัดถิ่น” องค์กรสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์” (เอชอาร์ดับเบิลยู) ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เอชอาร์ดับเบิลยูยังระบุเสริมว่า องค์กรสามารถยืนยันการใช้ระเบิดฟอสฟอรัสของกองกำลังอิสราเอล ในเขตเทศบาลอย่างน้อย 17 แห่ง ทั่วเลบานอนตอนใต้ นับตั้งแต่เดือน ต.ค. ปีที่แล้ว รวมถึงการใช้ระเบิดดังกล่าวอย่างผิดกฎหมายในพื้นที่อยู่อาศัยซึ่งมีประชากรหนาแน่น 5 แห่ง

ด้านองทัพอิสราเอล กล่าวในเดือน ต.ค. ปีที่แล้วว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาว ไม่ถูกนำมาใช้ในพื้นที่ประชากรหนาแน่น โดยมีข้อยกเว้นบางประการ ซึ่งการดำเนินการข้างต้นเป็นไปตาม และเกินกว่าข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมกับเสริมว่า กองทัพไม่ได้ใช้ระเบิดดังกล่าวเพื่อโจมตีเป้าหมาย หรือทำให้เกิดเพลิงไหม้แต่อย่างใด

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขเลบานอนระบุว่า ประเทศมีผู้ป่วย 178 คน ที่ได้รับสารเคมีจากการสัมผัสกับฟอสฟอรัสขาว นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566

ขณะที่ นายไบรอัน แคสต์เนอร์ ผู้ตรวจสอบอาวุธประจำทีมจัดการภาวะวิกฤติ ขององค์การนิรโทษกรรมสากล “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” กล่าวว่า การใช้ฟอสฟอรัสขาวในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ อาจถือเป็นการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมาย ซึ่งละเมิดกฎหมายมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากพลเรือนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มันอาจถือเป็นอาชญากรรมสงครามเช่นกัน

อนึ่ง รัฐบาลเบรุต ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยกล่าวหาว่า การใช้ระเบิดฟอสฟอรัสขาวของอิสราเอล เป็นอันตรายต่อชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก และก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ฟอสฟอรัสขาวยังทำให้เกิดความวิตกในกลุ่มเกษตรกรทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมของพวกเขาถูกเผาทำลาย ส่งผลให้บางคนกังวลว่า ดินและพืชผลอาจปนเปื้อนสารเคมีได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP