ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ออกมาตรการสกัดบัญชีม้าล่าสุด หลังจากเปิดข้อมูลภัยการเงิน 2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 65 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 67 มีมูลค่าความเสียหายถึง 63,000 ล้านบาท สูงที่สุดคือหลอกลงทุน 36% หลอกโอนเงิน 28% หลอกซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล 8% โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้อายัดบัญชีม้าเกือบ 2 แสนบัญชี และ 1 ใน 3 หรือกว่า 30% เป็นบัญชีเปิดใหม่
มาตรการสกัดบัญชีม้าที่ผ่านมา แนวทางป้องกันคือ ธนาคารงดส่งลิงก์ในอีเมล SMS ไม่ให้เกิดการแฮกข้อมูล ให้ยืนยันตัวตนผ่านไบโอเมทริก ตรวจจับ ต้องรวดเร็ว ตรวจสอบบัญชีธุรกรรมต้องสงสัย ให้เร็ว ตอบสนองรับมือ เพิ่มช่องทางติดต่อ พัฒนาแอปโมบายแบงก์กิ้งให้ทันสมัย จากข้อมูลจำนวนผู้เสียหายลดลงบ้าง จากการร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น กูเกิลให้แจ้งเตือนถ้าโหลดแอปต่างๆ จะมีแจ้งเตือนว่ามีความเสี่ยงหลอกลวง
นอกจากนี้ ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรัฐและเอกชน ออก พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จัดตั้งเบอร์สายด่วน AOC โทร. 1441 และแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบอายัด ผ่านระบบ Central Fraud Registry (CFR)
แนวทางจัดการบัญชีม้า แบ่งเป็น บัญชีม้า 3 สี ได้แก่
- บัญชีม้าสีดำ คือ รายชื่อผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเข้าข่ายกระทำผิด ข้อมูลจาก ปปง.
- บัญชีม้าสีเทา คือ รายชื่อผู้ที่ถูกแจ้งความ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางเงินทุจริตในทุกธนาคาร ข้อมูลจาก CFR
- บัญชีม้าสีน้ำตาล คือ รายชื่อที่ธนาคารติดตามพฤติกรรมผิดปกติของลูกค้า เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้าออกมูลค่าน้อยในระยะเวลาสั้นๆ หลายครั้ง เป็นต้น
มาตรการจัดการบัญชีม้าล่าสุดจากแบงก์ชาติ ดังนี้
1. ยกระดับจัดการบัญชีเป็นบุคคล และการเปิดบัญชีใหม่ทำได้ยากขึ้น
- บัญชีม้าสีดำ (เริ่มแล้ว) ปปง. ส่งข้อมูลเป็นรายสัปดาห์ จากเดิมรายเดือน
– บัญชีที่มีอยู่เดิม : ระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทุกบัญชี ทุกธนาคาร เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเข้มข้น
– บัญชีเปิดใหม่ : พิจารณาไม่เปิดบัญชีใหม่ทุกธนาคาร - บัญชีม้าสีเทา (เริ่ม 31 ก.ค. 67) ฐานข้อมูล CFR ทุกธนาคาร จากเดิมเฉพาะธนาคารที่เกี่ยวข้องในเส้นทางการเงิน
– บัญชีที่มีอยู่เดิม : ระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ทุกบัญชี ทุกธนาคาร เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง จากเดิม ระงับทำธุรกรรม 3-7 วัน เฉพาะบัญชี เฉพาะธนาคาร
– บัญชีเปิดใหม่ : เปิดบัญชีใหม่ได้ที่สาขาเท่านั้น ทุกธนาคาร เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเข้มข้น - บัญชีม้าสีน้ำตาล (เริ่มแล้ว) บัญชีที่ธนาคารตรวจว่าต้องสงสัย มีรูปแบบการตรวจจับเป็นมาตรฐานเดียวกัน จากเดิม แตกต่างกันแต่ละธนาคาร
– บัญชีที่มีอยู่เดิม : ทุกธนาคารดำเนินการตามความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เช่น ตรวจสอบเพิ่มเติม แจ้งเตือน ระงับชั่วคราว ให้ลูกค้ายืนยันตัวตน
– บัญชีเปิดใหม่ : ทุกธนาคารดำเนินการตามความเสี่ยงมาตรฐานเดียวกัน เช่น ตรวจสอบเพิ่มเติมมีเงื่อนไขการใช้บัญชี
2. มาตรการเพิ่มเติมช่วยดูแลประชาชน เริ่มบริการไตรมาส 4/2567
- มีทางเลือกให้ลูกค้าล็อกเงินในบัญชีไม่ให้ทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ และปลดล็อกได้ยากขึ้น
- ปรับลดวงเงินในการสแกนใบหน้าโอนเงินด้วยโมบายแบงก์กิ้ง
- ให้คนอื่นช่วยอนุมัติการโอนเงิน
- โอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
กำหนดบทลงโทษบัญชีม้า
- เปิด/ขาย/ให้เช่า/ให้ยืม จำคุก 3 ปี หรือปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เป็นธุระจัดหา/โฆษณา จำคุก 2-5 ปี หรือปรับ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 13 มิ.ย. 67