จากการสำรวจของรัฐบาลโตเกียว ชักโครกซึ่งมีทั้งที่นั่งแสนอุ่น และเทคโนโลยีฉีดน้ำที่แม่นยำ ถือเป็นบรรทัดฐานในญี่ปุ่น โดยบ้านเรือนมากกว่า 80% ในประเทศ มีชักโครกดังกล่าวอย่างน้อย 1 อัน

ปัจจุบัน ยอดขายชักโครกญี่ปุ่น พุ่งสูงขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ ซึ่งบริษัท โตโต้ (TOTO) ผู้บุกเบิกชักโครกไฟฟ้าที่จุดประกาย “การปฏิวัติระดับโลก” ตั้งแต่การเช็ด ไปจนถึงการชำระล้าง ระบุว่า รายได้จากการจำหน่ายชักโครกในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า จากเดิมที่ 100,000 ล้านเยน (ราว 23,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2555

อนึ่ง การระบาดใหญ่ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้การปรับปรุงบ้านได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มันยังส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องเชื้อโรค มีความต้องการสุขภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น หลังผลิตภัณฑ์สำคัญอย่างกระดาษชำระ ถูกกว้านซื้อโดยบรรดาผู้ซื้อที่ตื่นตระหนก

นายชินยะ ทามูระ ผู้บริหารอาวุโสของโตโต้ ซึ่งกำกับดูแลธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเติบโตของแบรนด์ ประสบความสำเร็จแบบปากต่อปาก

“เมื่อผู้คนเรียนรู้วิธีการทำงานของระบบฉีดน้ำในห้องน้ำเป็นครั้งแรก ด้วยการควบคุมแรงดันและอุณหภูมิ มันทำให้เกิดภาพที่ไม่น่าพิสมัย” ทามูระ กล่าวเพิ่มเติม “แต่เราไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ว่ามันดีแค่ไหน คุณต้องสัมผัสด้วยตัวเอง ซึ่งหลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่ง ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ขาดมันไม่ได้”

แม้ยอดขายสุทธิระหว่างประเทศของโตโต้ในขณะนี้ น้อยกว่า 1 ใน 3 ของยอดขายในญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทต้องการเพิ่มยอดขายในอเมริกา 19% ในช่วงเวลา 2 ปี เพื่อสร้างตำแหน่งที่มั่นคง และชดเชยความต้องการที่ไม่เร่งด่วนในจีน อย่างไรก็ตาม คู่แข่งในสหรัฐถือเป็นความท้าทายสำหรับโตโต้ และบริษัทอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิก และลิซิล (LIXIL)

ณ งานแสดงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่เมืองลาสเวกัส ในปีนี้ ผู้จัดการฝ่ายตลาดของแบรนด์ “โคห์เลอร์” (Kohler) เปิดตัวชักโครกที่มีชื่อว่า “นูมิ 2.0” (Numi 2.0) และยกย่องมันว่าเป็น “ชักโครกอัจฉริยะที่สุด” เนื่องจากมันรับคำสั่งด้วยเสียงผ่านผู้ช่วยเสมือน “แอมะซอน อเล็กซา” ที่ติดตั้งอยู่ในสุขภัณฑ์นี้ รวมถึงมีระบบกำจัดกลิ่นอัตโนมัติ และฝาปิดตรวจจับความเคลื่อนไหว ซึ่งเปิดขึ้นเมื่อคุณเข้าห้องน้ำ และปิดลงเมื่อคุณออกไป

กระนั้น ชักโครกที่อำนวยความสะดวกข้างต้น มีราคาสูงถึงประมาณ 8,500 – 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 313,000 – 369,000 บาท) เมื่อเทียบกับชักโครกธรรมดา ที่มีราคาประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 18,400 บาท)

ด้านพนักงานขายคนหนึ่ง จากบริษัท อาร์ดีส์ บาธ คอลเลกชัน ในเมืองเบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ชาวอเมริกันที่เดินทางไปญี่ปุ่น มักได้รับแรงบันดาลใจในการยกระดับปรับปรุงชักโครก เพราะเมื่อพวกเขาเห็นชักโครกญี่ปุ่นในสนามบิน หรือในห้องน้ำสาธารณะ และได้ใช้งานมัน พวกเขาต่างรู้สึกตกตะลึง และมองว่ามันเป็นสุขภัณฑ์ที่เยี่ยมมาก

“ชักโครกได้รับความนิยมในทุกที่ แต่มันยังคงเป็น ‘ประสบการณ์ส่วนตัว’ และการพูดถึงมัน ถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับลูกค้าบางคน” พนักงานขาย กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP