นางคลอเดีย ไชน์บาว์ม ผู้นำคนใหม่ของเม็กซิโก พูดถึงความปรารถนาของผู้หญิง ในการใช้ชีวิตโดยปราศจากความกลัว และต่อต้านทัศนคติเหมารวมที่ว่า “ผู้หญิงจะสวยกว่าเมื่อหุบปาก” แต่ถึงอย่างนั้น ชาวเม็กซิกันบางคนกังวลว่า ข้อเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมเพียงไม่กี่ข้อ อาจทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความก้าวหน้าของสตรี เป็นเพียง “ความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์”

“ความคิดที่ว่า ‘เมื่อประธานาธิบดีเป็นผู้หญิง บางสิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง’ เป็นแนวคิดที่ไม่ถูกต้อง เพราะแม้มันจะมีความหมายอย่างมากในเชิงสัญลักษณ์ แต่มันไม่มีความจำเป็นในเชิงการเมืองเสมอไป” นายแมทธิว กุตมานน์ นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาบราวน์ กล่าว

เม็กซิโก มีทั้งประวัติที่ดีและแย่ ในเรื่องสิทธิสตรี อีกทั้งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในสภาคองเกรส ภายใต้กฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นไม่กี่ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา ที่อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกทำแท้งได้

แต่ในทางตรงกันข้าม สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ผู้หญิงเม็กซิกันและเยาวชนหญิงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนราว 70% เคยประสบกับความรุนแรง ซึ่งรวมถึงการคุกคาม และการล่วงละเมิดทางเพศ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนการฆาตรกรรมผู้หญิงในเม็กซิโก ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยการประมาณการชี้ว่า ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวเม็กซิกัน ถูกฆาตกรรมประมาณ 10 คนต่อวัน

ในช่วงท้ายของการรณรงค์หาเสียง ไชน์บาว์ม กล่าวถึงผู้หญิงชาวเม็กซิกันโดยตรงว่า มันถึงเวลาสำหรับผู้หญิงและการเปลี่ยนแปลงแล้ว และนั่นหมายถึงการดำเนินชีวิตโดยปราศจากความกลัว และเป็นอิสระจากความรุนแรง

ด้านนางพาเมลา สตาร์ ผู้สันทัดกรณีในเม็กซิโก จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ความสำเร็จในการเลือกตั้งของไชน์บาว์ม ไม่ได้มาจากความต้องการประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิง แต่เป็นเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ไว้วางใจประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาของเธอ และผู้นำเม็กซิโกที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปีตามรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 1 ธ.ค. นี้

ขณะที่ นางเซดา โรดริเกซ นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยกัวดาลาจารา กล่าวว่า ชัยชนะของไชน์บาว์ม จะมีส่วนทำให้ผู้ชายเม็กซิกันเริ่มมองว่า การที่ผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบ ถือเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า ไชน์บาว์มน่าจะจัดการกับสิ่งที่เธอเรียกว่า “ความรุนแรงทางเพศในการเมือง” หรือก็คือ การที่ผู้หญิงที่มีอำนาจ ถูกมองว่ามีมาตรฐานสูงกว่า และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงกว่าเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP