สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ว่า นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวถึงรูปแบบการใช้โซเชียลมีเดียโดยทั่วไปบนโลกปัจจุบัน ว่ากลายเป็น "ศูนย์รวมของคนขี้ขลาด" เข้าไปรวมตัวกันโดยมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ "การทำลายชีวิตของคนอื่น" แล้วไม่ต้องรับบทลงโทษใด หนำซ้ำยังไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงด้วย
ผู้นำออสเตรเลีย กล่าวว่า เขาจึงมีแนวคิดปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การยืนยันตัวตนบนโลกโซเชียล หากบริษัทแห่งใดไม่ตอบสนองหรือปฏิเสธ ไม่ควรเรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม" แต่ควรไปจดทะเบียนองค์กรใหม่ในฐานะ "ผู้จัดพิมพ์" 
Guardian Australia
ทรรศนะดังกล่าวของมอร์ริสัน เกิดขึ้นหลังศาลฎีกาในกรุงแคนเบอร์รามีคำพิพากษา ที่สามารถเป็นกรณีศึกษาให้กับทั้งในและต่างประเทศ ว่าสำนักข่าว สำนักพิมพ์ และผู้ประกอบกิจการด้านสื่อและการประชาสัมพันธ์ "ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย" ต่อเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งบุคคลที่สามเข้ามาโพสต์ ในกรณีมีการเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊ก หลังจากนั้น สำนักข่าวระดับโลกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐ ปรับการตั้งค่าเฟซบุ๊ก เพื่อปิดกั้นผู้ใช้งานที่อยู่ในออสเตรเลีย
Guardian News
อนึ่ง ออสเตรเลียและเฟซบุ๊กเคยมีกรณีพิพาทกันเมื่อต้นปีนี้ หลังรัฐสภาเห็นชอบกฎหมาย ว่าด้วยการที่บริษัทเทคโนโลยีต้องบรรลุข้อตกลงเรื่องผลตอบแทนกับสำนักข่าว หรือบริษัทผู้ผลิตเนื้อหาในประเทศ ก่อนนำข้อมูลไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เฟซบุ๊กจึงปิดกั้นผู้ใช้งานในออสเตรเลีย จากการเข้าถึงและแบ่งปันเนื้อหาข่าวของสำนักข่าวทุกแห่งทั่วโลก ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของบริษัท ขณะที่ผู้ใช้งานในต่างประเทศจะไม่สามารถเข้าถึง และแบ่งปันเนื้อหาของสำนักข่าวจากออสเตรเลีย "เป็นการชั่วคราว"  ก่อนมีการไกล่เกลี่ยกันในเวลาต่อมา.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES