เกาหลีเหนืออ้างการส่งบอลลูนมากกว่า 3,500 ลูก ผูกถุงขยะและสิ่งปฏิกูลซึ่งมีน้ำหนักรวมกัน 15 ตัน ให้ลอยข้ามแดนไปตกในเกาหลีใต้ ตั้งแต่คืนวันอังคารที่ 28 พ.ค. จนถึงช่วงเช้าของวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา
รัฐบาลเปียงยางกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อตอบโต้การที่เกาหลีใต้ “ยังคงปล่อยปละละเลย” ให้กลุ่มนักเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ที่อาศัยอยู่ในประเทศ ส่งบอลลูนผูกถุงใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ ให้ลอยข้ามแดนมายังเกาหลีเหนือ
ส่วนข้อมูลของกองทัพเกาหลีใต้ระบุว่า เกาหลีเหนือส่งบอลลูนราว 600 ลูก ที่มีการผูกถุงขยะและสิ่งปฏิกูล ลอบข้ามพรมแดนมายังเกาหลีใต้ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน มีการส่งบอลลูนลักษณะเดียวกันราว 260 ลูก ให้ลอยข้ามเขตแดน โดยเป็นกรณีซึ่งแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่บอลลูนหลายลูกสามารถลอยมาไกลถึงกรุงโซลด้วย
ขณะที่น.ส.คิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ประณามการที่เกาหลีใต้ยังคงปล่อยให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีเหนือแปรพักตร์ ส่งบอลลูนบรรทุกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ ให้ลอยข้ามพรมแดนมายังเกาหลีเหนืออยู่เป็นระยะ ทั้งที่สภานิติบัญญัติเกาหลีใต้บัญญัติกฎหมายห้าม เมื่อปี 2563
อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีคำวินิจฉัยในเวลาต่อมา ว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญของประเทศ เนื่องจากเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของพลเมือง แต่รัฐบาลยังคงมีอำนาจ ในการควบคุม หรือยังยั้งการส่งใบปลิว “ในกรณีฉุกเฉิน”
ด้านนายชิน วอน-ซิก รมว.กลาโหมเกาหลีใต้ กล่าวว่า การที่เกาหลีเหนือยังคงส่งบอลลูนขยะลักษณะนี้ เป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิง เพื่อสงบศึกสงครามเกาหลี ที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน เมื่อปี 2496 ขณะที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ประกาศ ระงับการปฏิบัติตามเนื้อหาทั้งหมด ของข้อตกลงลดความตึงเครียดทางทหาร ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ที่ทั้งสองประเทศลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2561 “จนกว่าความเชื่อมั่นระหว่างสองเกาหลีจะได้รับการฟื้นฟู”
ก่อนหน้านั้น รัฐบาลโซลระงับการปฏิบัติตามเนื้อหาบางส่วนของข้อตกลงฉบับนี้ หลังรัฐบาลเปียงยางประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมสอดแนมทางทหารดวงแรกของประเทศ “มัลลิกย็อง-1” เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566
การระงับปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมทางทหารดังกล่าว นอกจากหมายถึง การเตรียมมาดำเนินกิจกรรมทางทหาร ตามแนวเส้นแบ่งเขตแดนทางทหาร ( เอ็มดีแอล ) บนคาบสมุทรเกาหลี และบริเวณหมู่เกาะ ตามแนวชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแล้ว ยังจะเป็นการเปิดทางให้กองทัพเกาหลีใต้สามารถกลับมาติดตั้งและใช้งานลำโพงขยายเสียง เพื่อกระจายเสียงโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านเกาหลีเหนือ ไปจนถึงการเปิดเพลงเค-ป็อปตามแนวชายแดนด้วย
นอกจากนั้น เกาหลีใต้ประณาม การที่สถานการณ์ดำเนินมาถึงขั้นนี้ เป็นผลจากการกระทำของเกาหลีเหนือซึ่งเริ่มก่อน และหากรัฐบาลเปียงยางยังคงเดินหน้าแสดงพฤติการณ์คุกคามและยั่วยุอีก กองทัพเกาหลีใต้ไม่ลังเลที่จะตอบโต้ ตามแนวทางของข้อตกลงร่วมทางทหารระดับทวิภาคี ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐ
แม้ “อย่างน้อยในตอนนี้” รัฐบาลเปียงยางจะระงับการส่งบอลลูนขยะข้ามพรมแดน แต่หากมีบอลลูนใบปลิวลอยมาจากเกาหลีใต้อีก เกาหลีเหนือไม่ลังเลที่จะส่งบอลลูนกลับไปเช่นกัน “พร้อมสิ่งปฏิกูลที่จะมีน้ำหนักมากกว่า 100 เท่า” ของใบปลิวที่อีกฝ่ายส่งข้ามพรมแดนมา
ทั้งนี้ทั้งนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีการส่งบอลลูนลักษณะนี้ให้ลอยข้ามเขตแดนมายังเกาหลีใต้ แต่ถือเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายยั่วยุครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงความพยายามส่งจรวดปล่อยดาวเทียมสอดแนมดวงที่สอง “มัลลิกย็อง-1-1” เมื่อปลายเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประสบกับความล้มเหลว และนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ยืนยันไม่ล้มเลิกโครงการ
ด้วยการที่บอลลูนทั้งหมดล้วนบรรทุกเพียงขยะและสิ่งปฏิกูล จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่สิ่งของเหล่านี้จะสามารถให้เบาะแสสำคัญ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ แต่เมื่อมมองจากมุมของรัฐบาลเปียงยาง มีความเป็นไปได้ว่า เกาหลีเหนือต้องการให้บอลลูนที่ส่งมา กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชาวเกาหลีใต้ ที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการส่งบอลลูนใบปลิว ของกลุ่มนักเคลื่อนไหวแปรพักตร์ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องยากที่ความต้องการของเกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติกับเกาหลีใต้ โดยนอกจากประเด็นพิพาททางกฎหมาย ระหว่างรัฐบาลโซลกับเหล่านักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเปียงยางแล้ว การขับเคลื่อนนโยบายสายเหยี่ยวต่อเกาหลีเหนือของรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดปัจจุบัน เป็นแนวทางที่ยากจะเปลี่ยนแปลง
กระนั้น การส่งบอลลูนของเกาหลีเหนือครั้งนี้ไม่น่ายกระดับ ให้บรรยากาศทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลีต้องตึงเครียดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่เป็นพัฒนาการที่บ่งชี้สถานการณ์ในบริเวณนี้ ว่ามีความเปราะบางมากเพียงใด.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP