ได้มีความพยายามในการนำเซลล์ต้นกำเนิดจากแหล่งต่างๆ มาศึกษาวิจัยถึงคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้ และความสามารถในการฟื้นตัวซ่อมแซมทั้งในระยะหลอดทดลอง การศึกษาในสัตว์ทดลอง ไปจนถึงการทดลองในผู้ป่วย ทั้งนี้เซลล์ต้นกำเนิดมีความหลากหลาย โดยอาจแบ่งชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดได้เป็นหลายประเภท เช่น การแบ่งชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดตามแหล่งของเซลล์ต้นกำเนิด ได้แก่ เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน, เซลล์ต้นกำเนิดที่สกัดจากเลือดในสายรก หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากเหนี่ยวนำจากเซลล์ร่างกายโดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังอาจแบ่งเซลล์ต้นกำเนิดได้ตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิด ได้แก่ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด, เซลล์ต้นกำเนิดเนื้อเยื่อมีเซนไคม์ รวมถึงเซลล์ต้นกำเนิดของอวัยวะต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดีในปัจจุบันข้อบ่งชี้หลักเพียงกรณีเดียวที่มีหลักฐานทางการแพทย์เชิงประจักษ์ในระดับสูงที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ทางคลินิกของการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในการรักษาโรค ได้แก่ การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาโดยวิธิการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อรุนแรง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กลับเป็นซ้ำ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียรุนแรง เป็นต้น นอกเหนือจากโรคทางโลหิตวิทยา โรคอื่นๆ ที่มีหลักฐานของการนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมาใช้ในการรักษาทางคลินิก ได้แก่ โรคมะเร็งในเด็กบางประเภท หรือโรคภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติในกลุ่มโรคหนังแข็ง เป็นต้น

 โดยแหล่งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ใช้ในการรักษานั้นส่วนใหญ่มาจากการสกัดเก็บจากผู้ป่วยเอง หรือผู้บริจาค และรวมถึงเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากเลือดรกตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่แตกต่างกันไปเป็นตัวกำหนด สำหรับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดประเภทอื่นๆ นั้นยังมีหลักฐานทางการแพทย์ค่อนข้างจำกัดในการนำมาใช้ในคลินิกเมื่อเทียบกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในโรคทางโลหิตวิทยาดังที่กล่าวไป และส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในขั้นตอนของงานวิจัย เช่น การใช้เซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ในการรักษาโรคที่เกิดจากความเสื่อมต่างๆ ได้แก่ โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคข้อเสื่อม โรคความเสื่อมทางระบบประสาท หรือโรคหัวใจล้มเหลว เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันอาจมีผลที่แสดงให้เห็นสัญญาณการซ่อมแซมในงานวิจัยระดับเซลล์ หรือสัตว์ทดลองขั้นต้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นมาตรฐานทางคลินิกในการรักษาโรค

นอกจากนี้หลายๆ คนมีคำถาม หรือได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการเก็บเลือดจากรกเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ใช้ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกรณีเป็นโรคทางโลหิตวิทยาในอนาคต หลักฐานในปัจจุบันพบว่าโอกาสของการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากรกที่เก็บไว้เพื่อตนเอง สำหรับการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาในอนาคตนั้นมีค่อนข้างน้อยมาก โดยคิดเป็นโอกาสประมาณ 0.04% ถึง 0.001% โดยมีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความเสี่ยงที่เป็นไปได้ว่าโรคที่เกิดขึ้นในภายหลังเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เซลล์ต้นกำเนิดจากรกอาจมีความผิดปกติเช่นเดียวกัน รวมถึงข้อบ่งชี้ของการใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในโรคโลหิตวิทยาแต่ละชนิดที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่แตกต่างกัน

High angle healthcare professional drawing blood

สำหรับการเก็บเลือดจากรกในธนาคารเซลล์ต้นกำเนิด หรือธนาคารเก็บเลือดจากรก (cord blood bank) เพื่อไว้ใช้สำหรับตัวเองในอนาคตยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์รองรับว่ามีประโยชน์ในการรักษาโรคอื่นๆ เช่นโรคทางพันธุกรรม รวมถึงโรคจากความเสื่อมอื่นๆ ในปัจจุบันสมาคมวิชาชีพทางการแพทย์ต่างๆ เช่น สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา, สมาคมการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดประเทศสหรัฐอเมริกา, สมาคมสูตินรีแพทย์แห่งประเทศอเมริกา รวมถึงสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทยยังไม่แนะนำการเก็บเลือดจากรกแช่แข็งไว้ใช้สำหรับการรักษาตนเอง (personal use) นอกเหนือจากการบริจาคให้แก่ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดรกสาธารณะ (public cord blood bank) เพื่อใช้เก็บเป็นแหล่งของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น โดยสรุปจากหลักฐานทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบันการตัดสินใจในการเก็บเซลล์ต้นกำเนิด หรือการเก็บเลือดจากรกไว้ในธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดของเอกชน ประชาชนควรศึกษาข้อมูล รวมถึงหลักฐานทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างถี่ถ้วน ตลอดจนเข้าใจถึงค่าใช้จ่าย คุณภาพของการเก็บรักษา ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่มีหลักฐานรองรับ และความเสี่ยงของการยกเลิกกิจการของธนาคาร โดยสามารถสอบถามปรึกษาจากแพทย์ผู้เชียวชาญได้หากมีข้อสงสัย

ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤษฎา วุฒิการณ์ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่