ศิลปะการต่อสู้ดังกล่าวถูกลืมไปเป็นส่วนใหญ่ หลังอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนถูกสังหารในการกวาดล้างปัญญาชน ภายใต้การปกครองของเขมรแดง ระหว่างปี 2518-2522 แต่บุญทาบ และเพื่อนนักศึกษาของเขา ตั้งใจที่จะเรียนรู้เทคนิคการต่อสู้นี้ และรักษามรดกของพวกเขาให้คงอยู่ต่อไป

สำหรับนักศึกษา ซึ่งสวมผ้าคาดศีรษะ และผูกผ้าที่แขน การฝึกจะมีทั้งการเรียนรู้วิธีปล่อยการโจมตีแบบน็อกเอาต์ด้วยหมัด, การเตะที่แม่นยำและทรงพลัง รวมถึงการฟาดศอกตีเข่าอย่างรวดเร็ว แม้แต่การต่อสู้ด้วยแท่งไม้, ดาบ และหอก ก็มีอยู่ในหลักสูตรเช่นกัน

“ผมจะพยายามฝึกฝนอย่างเต็มที่ เพื่อทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และพยายามอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้นี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไป” บุญทาบ กล่าวเพิ่มเติม

ยุทธกรมขอม ซึ่งแปลว่า “ศิลปะแห่งสงคราม” ในภาษาเขมร ถือกำเนิดจากสงครามหลายครั้งที่เกิดขึ้นในอาณาจักรเขมรโบราณ โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ ศิลปะการสงคราม, มนต์คาถา และกลยุทธ์ทางการทหาร

“ในสมัยโบราณ ผู้คนไม่มีอาวุธสมัยใหม่เหมือนในปัจจุบัน พวกเขาใช้ศิลปะการต่อสู้ เช่น หมัด, ศอก, การเตะ, เข่า, ดาบ, หอก และลูกธนู เพื่อปกป้องประเทศชาติจากศัตรูที่รุกรานเข้ามา” นายนาค รินดา หัวหน้าชั้นเรียน วัย 25 ปี อธิบายเสริมว่า เทคนิคของศิลปะการต่อสู้ข้างต้น ค่อย ๆ ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสมบูรณ์แบบ

แม้ยุทธกรมขอม ได้รับการนำเสนอต่อกองทัพกัมพูชา และมหาวิทยาลัยบางแห่ง อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังคงไม่รู้จักศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้ และคุ้นเคยมากกว่ากับกุนขแมร์ หรือโบกาตอร์ ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้โบราณอีกประเภทหนึ่ง

“ศิลปะการต่อสู้เขมรโบราณอย่างยุทธกรมขอม เกือบหายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ เนื่องจากเราสูญเสียทรัพยากรมนุษย์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาชนที่เสียชีวิตในระบอบการปกครองเขมรแดง” รินดา กล่าว

นอกจากนี้ รินดาระบุเพิ่มเติมว่า ยุทธกรมขอม ประสบกับการสูญเสียครั้งใหญ่ แต่ในตอนนี้ เยาวชนชาวกัมพูชากำลังพยายามนำศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้กลับมา เพื่อแสดงให้เพื่อนร่วมชาติทุกคนเห็นว่า กัมพูชามียังมีศิลปะการต่อสู้โบราณอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ ยุทธกรมขอม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP