การประกาศดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นความพยายาม ในการกดดันแพทย์ที่ลาออกจากโรงพยาบาล เพื่อประท้วงแผนการขยายโควตารับนักศึกษาแพทย์

รัฐบาลเกาหลีใต้ ยกระดับการเตือนด้านวิกฤติสาธารณสุขในประเทศ อยู่ที่ “ร้ายแรง” ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดจากทั้งหมด 4 ระดับ หลังแพทย์ฝึกหัดหยุดงานประท้วงนานเกือบ 3 เดือน ตั้งแต่เดือนก.พ. ที่ผ่านมา ขณะที่อาจารย์แพทย์หลายคนก็ลาออก หรือลดชั่วโมงการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่มแพทย์ฝึกหัด

ปัจจุบัน ชาวเกาหลีใต้ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ในต่างประเทศ จำเป็นต้องผ่านการสอบเบื้องต้นแยกต่างหาก ก่อนเข้าสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพภายในประเทศ แต่แผนการล่าสุดของรัฐบาลโซล จะยกเว้นแพทย์กลุ่มดังกล่าวจากการสอบข้างต้น นั่นหมายความว่า โรงพยาบาลฝึกอบรมสามารถจ้างพวกเขาได้ทันที แม้พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกของคนเองก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น แพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในต่างประเทศ จะได้รับอนุญาตให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อได้รับการอนุมัติจากรมว.สาธารณสุขเกาหลีใต้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ อธิบายเสริมว่า แผนการนี้เป็นวิธีทำให้ระบบบริการดูแลสุขภาพของประเทศ สามารถดำเนินต่อไปได้

แม้รัฐบาลเกาหลีใต้เชื่อว่า แพทย์ที่ศึกษาในต่างประเทศ อาจเป็นตัวเลือกที่มีประโยชน์ ในการเติมเต็มช่องว่างในแรงงาน และช่วยให้แพทย์ในประเทศมีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจส่วนใหญ่มาจากความกังวลที่ว่า ความแตกต่างในการฝึกอบรม และกำแพงภาษา ทำให้แพทย์จบจากต่างประเทศอยู่ในระดับ “ไม่ดีพอ” สำหรับการดูแลผู้ป่วย

ด้านสมาคมการแพทย์เกาหลี (เคเอ็มเอ) ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยสมาชิกประมาณ 140,000 คน ระบุว่า แผนการของรัฐบาล ที่จะลดปัญหาคอขวดในช่วงวิกฤติทางการแพทย์ จะดึงดูดบุคลากรแพทย์ “ที่มีความสามารถทางปัญญาต่ำ” เท่านั้น โดย นพ.ลิม ฮยอน-แทก ประธานเคเอ็มเอ เน้นย้ำว่า รายละเอียดในแผนการ แสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจในด้านการดูแลผู้ป่วย และการแพทย์

ขณะที่กลุ่มแพทย์กล่าวว่า สาธารณชนไม่เห็นด้วยกับแผนการของรัฐบาลโซลเช่นกัน โดยอ้างถึงผลการสำรวจทางออนไลน์ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง ซึ่งเผยให้เห็นว่า มีชาวเกาหลีใต้เพียง 65 คน จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,675 คน ที่เห็นด้วยกับการรับแพทย์ที่จบจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น นายพัก มิน-ซู รองรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้คนที่สอง กล่าวว่า แผนการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และรัฐบาลโซล ไม่มีแผนนำแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในต่างประเทศ เข้ามายังเกาหลีใต้ในเร็ว ๆ นี้ แต่ย้ำว่า แผนการนี้สามารถอุดช่องว่างด้านบริการ และตอบสนองความต้องการของประชาชน ในช่วงวิกฤติทางการแพทย์ได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES