นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รับทราบรายงานความคืบหน้าการจัดทำ SME Big Data/SME Master Data และโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐปี 2564 และรับทราบรายงานความคืบหน้าการสนับสนุนเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งผลการขึ้นทะเบียน ณ 29 ก.ย. 2564 มีเอสเอ็มอี 10 จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา ปทุมธานี สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น เชียงราย สมุทรปราการ โดยเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และวิสาหกิจชุมชน รวมประมาณ 1 แสนราย มีมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างรวม 551,306 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินงานระยะต่อไป ในปีงบประมาณ 2565 สสว. จะจัดให้มีโครงการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน สินค้า/บริการสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และจะมีการต่อยอดมาตรการ/นโยบาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (corporate procurement) การลดหลักประกันสัญญา/หลักประกันซอง การเข้าถึงเงินทุน (สินเชื่อคู่ค้าภาครัฐ สินเชื่อแฟคตอริ่ง) การกำหนดโจทย์การผลิตล่วงหน้า และการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมเร่งแก้ปัญหาเพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอี มีความเข้มแข็ง เดินหน้าสู่ปี 65 ให้ได้ จะหาแนวทางช่วยเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพ ให้เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัย ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน เพื่อพลิกโฉมประเทศตามเป้าหมายระยะเวลาที่วางไว้ โดยรัฐบาลดูแลเรื่องงบประมาณในภาพรวมให้เพียงพออยู่แล้ว โดยมีการจัดกลุ่มคัดกรองและมาตรการที่เหมาะสม ได้แก่

1. กลุ่มเอสเอ็มอี เดิมที่มีความเข้มแข็ง หากเอสเอ็มอี มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างรายได้ ก็จะมีมาตรการเชิงภาษีให้ความช่วยเหลือกับเอสเอ็มอี ในกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเร่งรัดเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่นำมาสู่การผลิตให้มีมากขึ้น 2. กลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีการดำรงสภาพการจ้างงาน มีรายได้พอเพียง แต่กำไรไม่มากนัก ต้องหาแนวทางให้ดำรงสภาพการจ้างงานต่อไปได้ 3. เอสเอ็มอี ที่มีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ที่ต้องหาแนวทางช่วยเหลือส่งเสริม โดยรัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยในช่วงปลายปีนี้ รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องโควิด การท่องเที่ยวและบริการ และจะพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด