จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติให้ความเห็นชอบร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของไทย ในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

วันที่ 30 พ.ค. นายพจน์ อร่ามวัฒนา รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ของประเทศไทย ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะช่วยเปิดประตูการค้าให้ไทย และสามารถขยายการส่งออกสินค้าไทยได้มากขึ้นโดยครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม

เพราะปัจจุบันไทยเป็นสมาชิกเพียงอาร์เซ็ป หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เท่านั้น ขณะที่การเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ กับหลายประเทศหรือหลายความตกลง ยังไม่แล้วเสร็จ โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-อียู ที่ต้องการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ตามมติ ครม. ระบุว่า กลุ่ม BRICS มีนโยบายขยายความร่วมมือกับประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยมีแผนจะเชิญประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมในกลไกของกลุ่มในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 16 ณ เมืองคาซาน สหพันธรัฐรัสเซีย ระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเร่งเดินหน้ากระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม เพื่อยกระดับบทบาทของไทยในฐานะผู้มีบทบาทนำในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS ในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา
1. การเมืองและความมั่นคง
2. เศรษฐกิจและการเงิน
3. ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน

เข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ไทยได้ประโยชน์อย่างไร?

  • ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ
  • เพิ่มบทบาทไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
  • เพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

BRICS คือ การรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ โดย BRICS ย่อมาจากตัวอักษรตัวแรก ของประเทศสมาชิกเดิม 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล (B), รัสเซีย (R), อินเดีย (I), จีน (C) และแอฟริกาใต้ (S) ซึ่งในปัจจุบัน BRICS มีประเทศสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 10 ประเทศ

สมาชิกกลุ่ม BRICS ทั้ง 10 ประเทศ มีใครบ้าง?

  • สมาชิกเดิม 5 ประเทศ
    1. บราซิล
    2. รัสเซีย
    3. อินเดีย
    4. จีน
    5. แอฟริกาใต้
  • สมาชิกใหม่ 5 ประเทศ (ปี 2567)
    1. อียิปต์
    2. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
    3. เอธิโอเปีย
    4. ซาอุดีอาระเบีย
    5. อิหร่าน
  • ตัวอย่างประเทศขอเป็นสมาชิกใหม่ เช่น
    1. ไทย
    2. แอลจีเรีย
    3. โบลิเวีย

อ้างอิง :