แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ถ้าหากขัั้นตอนต่างๆ เรียบร้อยทันเวลา จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ภายในวันที่ 28 พ.ค.นี้ แต่ถ้าขั้นตอนไม่ทัน จะเสนอที่ประชุม ครม. ภายในสัปดาห์หน้า วันที่ 4 มิ.ย.ต่อไป มีรายชื่อดังนี้ 

1.นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โยกกลับไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อีกครั้ง 

2.นายวีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โยกกลับไปเป็นรองปลัดกระทรวงพลังงาน 

3.น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน โยกไปเป็นอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) 

สำหรับการโยกสลับตำแหน่งครั้งนี้ ถือเป็นการโยกย้ายกลางฤดูกาลของกระทรวงพลังงาน หลังจากที่ผ่านมาเพิ่งแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 66 และเริ่มทำงานตำแหน่งใหม่อย่างเป็นทางการวันที่ 4 ม.ค. 67 เท่ากับว่า ผู้บริหารระดับสูงชุดใหม่ ทำงานตำแหน่งใหม่ประมาณ 5 เดือนกว่าๆ ยังไม่ถึง 6 เดือนเต็ม ซึ่งครั้งนั้นได้โยกย้ายถึง 6 ตำแหน่ง คือ 

1.น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

2.นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

3.นายวรากร พรหโมบล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง  ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

4.นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

5.นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

6.นายวีรพัฒน์  เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งใหม่นี้ ตำแหน่งที่น่าจับตา คือ การโยกนายวัฒนพงษ์ กลับมานั่ง สนพ. และย้ายนายวีรพัฒน์ กลับไปเป็นรองปลัดกระทรวงพลังงานตามเดิม หลังมีกระแสข่าวผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเมือง มองว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ของกระทรวงพลังงาน ยังไม่ทันใจ ไม่ค่อยคืบหน้าตามเป้าหมาย โดยเฉพาะนโยบายการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ จึงต้องการให้นายวัฒนพงษ์ กลับไปดำรงตำแหน่ง ผอ.สนพ. เพื่อเร่งดำเนินการต่อไป เนื่องจากหน่วยงาน สนพ. ถือเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายการรื้อโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหม่ ที่ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายการเมือง ต้องการให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงเป็นที่ประทับใจจดจำของประชาชน