นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทย หรือ ปณท ถือเป็นหน่วยงานขนส่งหลักของประเทศ แต่ในปัจจุบันธุรกิจขนส่งมีการแข่งขันกันสูง ปณท ต้องมีการยกระดับการให้บริการให้สามารถแข่งขันกับขนส่งเอกชนให้ได้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้การขนส่งรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจ และบรรเทาภาวะวิกฤตให้กับองค์กรและชุมชนโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19  ระบาด

“การขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล หรือ Tech Post การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม การให้บริการครบวงจร และการรักษาคุณภาพบริการเป็นแนวทางที่สำคัญ อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็เข้าใจว่า การส่งจดหมายพัสดุ ถือเป็นบริการสาธารณะจะเน้าเอากำไรเหมือนบริษัทเอกชนไม่ได้ เพราะมีบางพื้นที่ เช่น ชายแดน ชายขอบ ที่เอกชนไม่ทำ ก็ต้องอาศัย ปณท เป็นคนส่ง ซึ่งพื้นที่ห่างไกลก็ทำให้มีต้นทุนสูงจึงทำให้การส่งจดหมายมีผลขาดทุนอยู่”

อย่างไรก็ตาม ปณท ก็พร้อมพร้อมขานรับนโยบาย ด้วยการเพิ่มศักยภาพการคัดแยกพัสดุด้วยการติดตั้ง  เครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มเพื่อรองรับปริมาณสิ่งของจากกลุ่มธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) ซึ่งสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน พร้อมทั้งเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการด้วยเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (APM) ให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการฝากส่งสิ่งของด้วยตนเองได้ง่ายๆ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาคุณภาพบริการ ทั้งความรวดเร็ว ความแม่นยำ และ ความปลอดภัย เพื่อเป็นผู้ให้บริการสื่อสารและขนส่งของชาติที่คนไทยจะไว้วางใจได้เสมอ

ด้าน ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท กล่าวว่า ปณท มีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันการดำเนินงานขององค์กรสู่ความเป็น Tech Post อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการติดตั้งเครื่อง คัดแยกแบบ Cross Belt Sorter ที่ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 140  ล้านบาท ซึ่งนำเข้าจากจีนที่มีการขนส่งพัสดุ อีคอมเมิร์ซในอันดับต้นๆของโลก และสามารถคัดแยกสิ่งของได้กว่า 7,200,000 ชิ้นต่อเดือน มากกว่าเครื่อง คัดแยกแบบ เดิมที่คัดแยกสิ่งของได้ 6,500,000 ชิ้นต่อเดือน และใช้แรงงานคนลดลง 20%  จากเดิมที่ต้องใช้คน 120 คน โดยการติดตั้งเครื่อง Cross Belt Sorter ณ ศูนย์ไปรษณีย์ด่วนพิเศษกรุงเทพฯ (EMS) นับเป็นเครื่องที่ 3 ต่อจากศูนย์ไปรษณีย์ศรีราชา และศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ซึ่งเมื่อรวมศักยภาพของทั้ง 3 เครื่องแล้ว จะรองรับปริมาณงานได้มากถึงกว่า 20,000,000 ชิ้นต่อเดือน

พร้อมทั้งมีแผนในการติดตั้งเครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter เพิ่มที่ศูนย์ไปรษณีย์อีก 8 แห่ง คือ ศูนย์ไปรษณีย์นครราชสีมา ศูนย์ไปรษณีย์ขอนแก่น ศูนย์ไปรษณีย์อุบลราชธานี ศูนย์ไปรษณีย์ทุ่งสง ศูนย์ไปรษณีย์หาดใหญ่ ศูนย์ไปรษณีย์พิษณุโลก ศูนย์ไปรษณีย์ลำพูน และศูนย์ไปรษณีย์ราชบุรี ให้ครบ 11 เครื่อง ภายในปี 2566

ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยซึ่งมีศูนย์ไปรษณีย์ครอบคลุมทั่วประเทศถึง 19 ศูนย์ สามารถคัดแยกสิ่งของฝากส่งจากทั่วประเทศกว่า 3,000 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งคาดว่าจะสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการทั้งภาคส่วนผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนทั่วไป และเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ เดินหน้าอย่างไม่สะดุด สามารถส่งด่วนทุกปลายทางแม้จะมีปริมาณสิ่งของที่ต้องการจัดส่งจำนวนมาก

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยได้นำร่องติดตั้งเครื่องให้บริการรับฝากอัตโนมัติ (APM) ให้บริการกับประชาชน ใน 7 ที่ทำการไปรษณีย์ คือ ไปรษณีย์จตุจักร ไปรษณีย์นนทบุรี ไปรษณีย์ลาดพร้าว ไปรษณีย์ภาษีเจริญ ไปรษณีย์บางขุนเทียน ไปรษณีย์บางพลี เคาน์เตอร์ไปรษณีย์แสมดำ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับผู้ใช้บริการในรูปแบบ Self-Service ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการได้ลดระยะเวลารอคอยใช้บริการที่เคาน์เตอร์ และอำนวยความสะดวกในยุคที่ต้อง social distancing โดยปัจจุบันเครื่อง APM สามารถให้บริการฝากส่งได้ 3 ประเภท คือ EMS ไปรษณีย์ลงทะเบียน และพัสดุไปรษณีย์ โดยเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็น Smart Post Office ต่อไป