สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่าสภาแห่งชาติของสิงคโปร์มีมติด้วยเสียงข้างมาก 75 ต่อ 11 เสียง รับรองกฎหมาย "ต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ" หลังใช้เวลาอภิปรายนาน 3 สัปดาห์ และการอภิปรายวันสุดท้ายเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ใช้เวลานานเกือบ 10 ชั่วโมง
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว คือการที่รัฐบาลของสิงคโปร์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ในการป้องกัน สืบหาและยับยั้ง ความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเผยแพร่ "เนื้อหาอันไม่เป็นมิตร" จาก "กองกำลังภายนอก" ซึ่งมีเป้าประสงค์แทรกแซงกิจการภายในของสิงคโปร์ ผ่านบุคคลหรือกลุ่มบุคคล "ที่เป็นตัวแทนในท้องถิ่น"
ทั้งนี้ มาตรการตอบสนองของภาครัฐอาจเป็นการ "ออกคำสั่ง" ให้ผู้บริการด้านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และบริการสังคมออนไลน์เปิดเผยข้อมูลอย่างจำเพาะเจาะจง เกี่ยวกับบุคคลซึ่งกระทำการผิดกฎหมาย การปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหา และการลบเนื้อหานั้น หรืออาจถึงขั้นระงับการใช้บริการแพลตฟอร์มนั้นในสิงคโปร์
The Straits Times
ขณะเดียวกัน บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติเข้าข่ายเป็น "บุคคลสำคัญทางการเมือง" ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับเงินบริจาค และต้องแสดงหลักฐาน "ความสัมพันธ์" กับ "ปัจจัยในต่างประเทศ"
ด้านนายเค ชันมูกัม รมว.มหาดไทยของสิงคโปร์ กล่าวว่า กฎหมายนี้ไม่มีผลกระทบอย่างแน่นอน กับชาวสิงคโปร์ที่แสดงความเห็นทางการเมืองตามกรอบของกฎหมาย และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสาร "บนพื้นฐานของความเป็นจริง" 
อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านของสิงคโปร์และองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ( เอ็มเอสเอฟ ) มองไปในทางเดียวกัน ว่ากฎหมายนี้ "เป็นกับดัก" ต่อการทำงานของสื่อมวลชน และเรียกร้องการปรับแก้กฎหมายอีกครั้ง โดยเสนอลดอำนาจของรัฐบาลในเรื่องนี้ และนำไปเพิ่มให้กับการทำงานของฝ่ายตุลาการ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ยืนยันว่า กฎหมาย "มีความสมดุลและสมบูรณ์แล้ว".

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES