ที่ห้องประชุมศาลากลาง จ.สุพรรณบุรี นายนพฤทธิ์ ศิริโกศล รอง ผวจ.สุพรรณบุรี เป็นประธานประชุมเพื่อร่วมพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับปรุงกำแพงเมืองคูเมืองโบราณด้านทิศตะวันตกต่อจากแนวกำแพงที่บูรณะเดิม ตามโครงการรอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานกำแพงเมืองสุพรรณบุรี โครงการนี้สำนักศิลปกรที่ 2 จ.สุพรรณบุรี ได้ว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่ง เริ่มสัญญาตั้งแต่ 4 มี.ค.64 และจะสิ้นสุดสัญญา วันที่ 29 ธ.ค.64 รวมระยะเวลา 300 วัน มูลค่าก่อสร้าง 29,300,000 บาท โดยมีนายชูชีพ พงษ์ไชย รอง ผวจ.สุพรรณบุรี ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.ทส. และที่ปรึกษา นายก อบจ.สุพรรณบุรี ร.อ.บุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี นายศรีธรรม ราชแก้ว นอภ.เมืองสุพรรณบุรี และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกการก่อสร้างที่กำลังดำเนินการว่ามีความถูกต้อง หรือเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน

นายนพฤทธิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนกรณีการบูรณะโบราณสถานกำแพงเมืองสุพรรณบุรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี จากนายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักศิลปากรที่ 6 สุพรรณบุรี ได้ดำเนินการปรับปรุงกำแพงคูเมืองโบราณทางด้านตะวันตก ต่อจากแนวกำแพงที่บูรณะเดิม ตามโครงการดังกล่าว โดยผู้ร้องมีความเห็นว่าการปรับปรุงในครั้งนี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่คงสภาพกำแพงเมืองโบราณเดิม ซึ่งการซ่อมแซมและปรับปรุง ต้องมีรูปทรงลักษณะกลมกลืนเหมือนของเดิมมากที่สุด แต่ต้องแสดงความแตกต่างของสิ่งที่มีอยู่เดิมและสิ่งสร้างขึ้นใหม่ จึงเห็นว่าควรแก้ไขดำเนินการโครงการฯ ให้มีความเหมาะสมและคงสภาพเดิมของกำแพงโบราณ

นายนพฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นก็คือความเห็นของชาวสุพรรณบุรี มีความเห็นว่าตัวกำแพงที่สร้างนั้นดูลักษณะไม่สวยงาม ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร จึงอยากให้มีการปรังปรุงเพิ่มเติมให้ดูสวยงามมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งทางกรมศิลปกรได้ชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ค้นพบ

อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีมติร่วมกันว่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ให้ความรู้ความเข้าใจและข้อมูลกับพี่น้องประชาชนให้มากขึ้น ในประเด็นแรกก็คือ ภาพปัจจุบันที่ทำอยู่เป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร ประเด็นที่สอง ในอนาคตจากการที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายแล้วนั้น ควรที่จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมอะไรให้มากขึ้น เป็นที่ความพึงพอใจของทุกฝ่าย และประเด็นที่สาม น่าจะมีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสิ่งที่เป็นอยู่ในวันนี้ เช่น ปรับภูมิทัศน์เพิ่มเติม หรือสร้างจุดสนใจที่เป็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด และมีการเปิดกว้างให้สามารถบูรณาการงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางท้องถิ่นถือว่าเป็นเจ้าของบ้าน

ด้าน ดร.อุดม กล่าวว่า การประชุมถือว่าเป็นที่น่าพอใจที่กรมศิลปากร รับปากว่าหลังจากที่แล้วเสร็จในเฟสที่ 1 จะมีการดำเนินการเร่งทำประชาพิจารณ์เรื่องของแบบ ที่จะทำต่อในเฟส 2 ให้เป็นรูปลักษณ์ที่สมบูรณ์ของกำแพงเมือง เพื่อที่จะให้พี่น้องประชาชนที่จะมาท่องเที่ยวได้เห็นว่ากำแพงเมืองของเราเป็นอย่างไร และเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญแห่งใหม่ของสุพรรณบุรี ที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ เชื่อว่าถ้ามีการทำตามแบบ และทำประชาวิจารณ์เพิ่มขึ้นมาแล้ว และประชาชนเห็นด้วย กำแพงเมืองของเราก็จะเป็นรูปลักษณ์ที่ตรงตามโบราณคดีต่อไป