เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่หอประชุมศรีปราชญ์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ต.หนองสงส์ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการศึกษาอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 19 โดยได้รับเกียรติจากนายกองเอก ธารณา คชเสนี (ครูป๊อด) นายหมวดตรี น้ำเพ็ชร คชเสนี สัตยารักษ์ (ครูปั๊ม) ดร.ลักษิกา เจริญศรี (ครูป้ายู) ร่วมเป็นวิทยากร โอกาสนี้ นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายถิรนาถ เอสะนาชาตัง นายอำเภอทุ่งสง นายอรรถพงษ์ อยู่เกตุ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช และกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับการศึกษาอบรมจากจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวม 101 คน ร่วมรับฟัง.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดโครงการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยประจำท้องถิ่น ปี 2567 รุ่นที่ 19 รุ่นที่เลข 1+9 = 10 อันเป็นตัวเลขมหามงคล โดยตนให้ความสำคัญและตั้งใจเดินทางมาพบปะ พูดคุยกับทุกรุ่น เพื่อฝากความหวังกับทุกท่านผู้เป็น “ทหารเสือพระราชา” ที่มีใจรุกรบ มีความมุ่งมั่นในการแสดงออกซึ่งความกล้าหาญ ด้วยการลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ดีที่สนองแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้พระราชทานแนวพระราชดำริในสิ่งที่เราขาดหายไปจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี นั่นคือ “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย” อันมีจุดเริ่มต้นมาจากประวัติศาสตร์ครอบครัว ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ทุกวันนี้พ่อแม่นอกจากไม่เล่าเรื่องปู่ย่าตาทวด หรือบอกลูกว่ายังมีญาติพี่น้องท้องเดียวกัน ไปตั้งรกราก ไปออกเรือนในพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศต่าง ๆ รวมถึงด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไม่เคยรวมญาติ ไม่เคยทำบุญเดือนสิบ สงกรานต์ ตรุษจีน ไม่เคยได้รวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตาพบปะกัน ส่งผลให้ลูกหลานไม่รู้จักครอบครัว ไม่รู้จักญาติพี่น้อง ไม่รู้จักลุงป้าน้าอา ลูกพี่ลูกน้อง ความรักความผูกพัน ความห่วงใย ความเอื้ออาทร ความกตัญญูรู้คุณ ก็จะไม่เกิด เช่นเดียวกัน ในระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ถ้าเขาไม่รู้ ความกตัญญู ความรัก ความหวงแหน ความผูกพันในองค์รวม มันก็เกิดลำบาก เพียงเพราะเรา “ไม่พูด ไม่บอกเล่า ไม่ถ่ายทอด”.

“โครงการฝึกอบรมฯ นี้ กระทรวงมหาดไทยร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.) จัดขึ้นจำนวน 19 รุ่น โดย ศอญ.จอส. ได้คัดเลือกให้โครงการฝึกอบรมฯ นี้ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 โดยกระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งหวังที่จะบ่มเพาะองค์ความรู้ ด้วยการสร้าง “จิตอาสา” ผู้เห็นความสำคัญของแนวพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ต้องไปถ่ายทอดพูดคุยบอกเล่าสื่อสารทุกช่องทางให้ “7 ภาคีเครือข่าย” ได้ช่วยกันขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มเติมไปยังพี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลทั่วประเทศ โดยการเป็น “ครูจิตอาสา” บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ ที่ถือเป็นการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้รับรู้และปฏิบัติสิ่งที่ดีงามเหมือนบรรพบุรุษ มีความรักชาติ เริ่มจากรักครอบครัว รักพี่น้องและเพื่อนบ้าน รักคนไทยด้วยกัน ดังพุทธศาสนสุภาษิต นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา : ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี เฉกเช่น ชาวปักษ์ใต้ ที่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ภูมิภาคไหนก็จะมี “สมาคมชาวปักษ์ใต้” เพื่อดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สะท้อนให้เห็นว่า “ความเป็นพวกพ้อง” จะช่วยเกื้อหนุนจุนเจือให้คนในครอบครัว ในสถาบันการศึกษา ในที่ทำงาน ในประเทศไทย ได้มีความรัก ความผูกพัน เราทุกคนจึงต้องช่วยกันทำให้คนไทยทั้งชาติได้มีความเป็นพวกพ้องด้วย “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” และเรื่องราวสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่อมหาสมาคม เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่สะท้อนถึงความสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย ความตอนหนึ่งว่า “เพราะเราจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ที่บรรพบุรุษของเราสละชีวิตมาเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อ ด้วยชีวิต แต่เสียดาย …ไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์แล้วนะ…ตอนที่ฉันเรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีประวัติศาสตร์อะไรเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของสวิส แต่เมืองไทยนี่ บรรพบุรุษเลือดทาแผ่นดิน กว่าจะมาถึงที่ให้พวกเราอยู่ นั่งอยู่กันสบาย มีประเทศชาติ เรากลับไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์…อย่างที่อเมริกาถามไปเขาก็สอนประวัติศาสตร์บ้านเมืองเขา ที่ไหนประเทศไหน เขาก็สอน แต่ประเทศไทยไม่มี ไม่ทราบว่าแผ่นดินนี้ รอดไปอยู่จนบัดนี้เพราะใคร หรือว่ายังไงกัน อันนี้น่าตกใจ ชาวต่างประเทศยังไม่ค่อยทราบว่า นักเรียนไทยไม่มีการสอนประวัติศาสตร์ชาติเลย” ซึ่งพระราชดำรัสองค์นี้ สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงตระหนักและให้ความสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะมีผลต่อความมั่นคงของชาติ ที่พวกเราต้องน้อมนำมาศึกษา ทำความเข้าใจ และยึดเป็นหลักชัยในการหนุนนำให้พวกเรามีกำลังใจไปกระตุ้นให้พื้นที่ของเราไม่ลืมเลือนที่จะพูดคุย เรียนรู้ ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้กับลูกหลาน เพราะทุกประเทศทั่วโลก ก็ต่างเรียนประวัติศาสตร์ของประเทศนั้น ๆ หรือแม้แต่การฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. คนที่ 41 เคยกล่าวถึงการไปศึกษาอบรมของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Bureau of Investigation : FBI) กำหนดให้ทุกคนต้องเรียนประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในหลักสูตรฝึกอบรมทุกหลักสูตร.

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในทุก ๆ ด้าน ดังพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ซึ่งต่อมาพระองค์ท่านยังได้พระราชทานพระราชดำรัสขยายความพระปฐมบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการ “แก้ไขในสิ่งผิด” และ “สืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยในเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย พระองค์ทรงให้ความสำคัญ ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงมีพระราชดำรัสขยายความคำว่า “ประวัติศาสตร์” พระราชทานแก่เยาวชนโครงการค่ายผู้นำเยาวชนจิตอาสา หลักสูตรการฝึกปฏิบัติและดูงานเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศชาติก็คือบ้าน แบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ สังคมต่าง ๆ ก็ลงมาอยู่ที่พื้นฐานก็คือครอบครัวและลงมาอยู่ที่ตนเอง บ้านเมืองของเรา ประเทศของเรา หรือบ้านหรือครอบครัวของเราเนี่ย จะมีความสุขปลอดภัย น่าอยู่ สบาย มันก็ขึ้นกับคนรุ่นเราในอนาคต…แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเอาบทเรียนมาใช้…เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เพราะเราคืออนาคต ประวัติศาสตร์มาปัจจุบัน ปัจจุบันก็คืออนาคต ปัจจุบันถือไมโครโฟน พอวางลงก็เป็นอดีต เมื่อเราจับไมโครโฟนมาใหม่ก็เป็นปัจจุบัน…ถ้าเราอยากเรียนลัด ก็ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้มาก ว่าสมัยก่อนมันเป็นอย่างนี้ ถ้าทำอย่างนี้มันเป็นอย่างนั้น แล้วปัจจุบันเราจะทำอย่างไรให้เรามีความรู้ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่จะรักษาประเทศชาติบ้านเมือง อย่างน้อยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นกำลังใจให้…” สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้เราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย ทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องส่วนรวม และการเรียนประวัติศาสตร์จะทำให้มีประสบการณ์ เป็นทางลัดที่ทำให้เราได้นำไปวิเคราะห์เพื่อเป็นบทเรียนในการปฏิบัติตนและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า “บ้านเมืองต้องมีคนที่เสียสละ ทำสิ่งดีงามเพื่อประเทศชาติ เพื่อส่วนรวม เพื่อคนอื่น โดยไม่คิดหวังผลตอบแทนในรูปเงินทอง” จึงพระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทาน โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน และโครงการพระราชดำริมากมาย เพื่อให้เราทุกคนช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด รื้อฟื้นสิ่งที่ดีให้กลับคืนมาสู่สังคมไทย.

“ทุกอย่างรอบตัวเป็นประวัติศาสตร์ เฉกเช่นจังหวัดตราด เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจเป็นเวลาถึง 12 ปี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพียรพยายามเป็นเวลามากกว่า 12 ปีทำให้ประเทศมหาอำนาจในยุคนั้นยอมรับว่าเราเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ด้วยทรงใช้วิเทโศบายสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งในวันที่ 23 มีนาคมของทุกปีจะมีการจัดงาน “ตราดรำลึก” เป็นงานสนุกสนานรื่นเริงควบคู่กับสารัตถะแห่งการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ประเทศไทยได้ดินแดนเมืองตราดกลับคืนมาดังเดิม ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยมีกลวิธีบอกเล่าหลายรูปแบบ ทั้งบอกเล่าตรง ๆ บอกเล่าผ่านการทัศนศึกษา การประชุมกรมการจังหวัด กรมการอำเภอ การประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน การประชุมหมู่บ้าน การฝึกอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ และการใช้หอกระจายข่าวหมู่บ้านหรือสื่อในพื้นที่บอกเล่าในช่วงต่าง ๆ โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ขับเคลื่อนการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทยตามบันทึกความร่วมมือ “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย” นำโดย ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ด้วยการบรรจุเนื้อหาข้อสอบประวัติศาสตร์ชาติไทยในการสอบบรรจุรับราชการ นอกจากนี้ สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้บรรจุหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง ศีลธรรมและจริยธรรม เป็นวิชาหลัก ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1/2567 เป็นต้นไป รวมถึงการดำเนินโครงการฝึกอบรมผู้บอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทย และขยายผล ครู ก. ครู ข. ในทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อทำให้คนในชาติเกิดความรัก สามัคคี มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และภายหลังจากการฝึกอบรมฯ ทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรที่ลงนามสดทุกใบ พร้อมทั้งบัตรประจำตัวผู้ผ่านการฝึกอบรมฯ และเมื่อเดินทางกลับไปที่พื้นที่แล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ จะส่งเสริมสนับสนุนบทบาททุกท่านในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธาน ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อจะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย