พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ยืนยันการเดินหน้าโครงการขุดคลองฟูนันเตโช อภิมหาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากจีน ด้วยงบประมาณที่สูงถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 62,000 ล้านบาท )
ผู้นำกัมพูชายืนยันว่า โครงการดังกล่าวจะนำมาซึ่งความเจริญ และการพัฒนาให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และเน้นย้ำว่า เส้นทางไหลของกระแสน้ำในคลอง ที่จะมีความยาว 180 กิโลเมตร ความกว้าง 100 เมตร และความลึก 5.4 เมตร จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสน้ำในแม่น้ำโขง หลังมีการวิเคราะห์ว่า น้ำในคลองฟูนันเตโชที่จะมาจากแม่น้ำบาสัก ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง อาจเป็นการเบี่ยงทิศทางของกระแสน้ำ
เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ คลองฟูนันเตโชจะเชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญ กับท่าเรือหลายแห่งของกัมพูชาที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย ซึ่งจะเป็นการเลี่ยงเส้นทางเดินเรือดั้งเดิมของเวียดนาม สร้างความวิตกกังวลให้แก่รัฐบาลฮานอยเช่นกัน ว่าโครงการนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เรือรบของจีน สามารถเคลื่อนเข้ามาใกล้กับชายฝั่งเวียดนามได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฮุน มาเนต ยืนกรานปฏิเสธความวิตกกังวลดังกล่าว โดยเน้นว่า คลองแห่งนี้ตื้นเกินไปสำหรับเรือรบ
ขณะที่กองทัพกัมพูชาและกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ( พีแอลเอ ) ซ้อมรบร่วมกัน ในชื่อรหัสปฏิบัติการ “โกลเด้น ดราก้อน” หรือมังกรสีทอง เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีทั้งการซ้อมรบด้วยกระสุนจริง การต่อต้านการก่อการร้าย และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งนี้ การซ้อมรบโกลเด้น ดราก้อน จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2559 และกองทัพกัมพูชายืนยันว่า การฝึกซ้อมครั้งนี้ “มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี”
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดดังกล่าวเกิดขึ้น ขณะที่สหรัฐยังคงจับตาอย่างใกล้ชิด เกี่ยวกับโครงการฐานทัพเรือเรียม ที่จังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ของกัมพูชา ซึ่งอยู่ใกล้กับอ่าวไทย แต่รัฐบาลพนมเปญยืนกรานปฏิเสธมาตลอด ว่าท่าเรือความยาว 363 เมตร ในฐานทัพเรือเรียมนั้น ไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อรอรับการจอดเทียบท่าของเรือรบขนาดใหญ่จากประเทศใด
แม้ประเด็นเกี่ยวกับฐานทัพเรือเรียมยังคงเป็นที่จับตาและถกเถียงในเวียดนาม แต่รัฐบาลฮานอยไม่แสดงออกมากนัก อย่างไรก็ตาม เวียดนามไม่อาจเพิกเฉยได้ กับโครงการคลองฟูนันเตโช ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นโครงการที่ได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณจากจีน แต่อาจนำไปสู่การปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ ทั้งในทางทหารและเศรษฐกิจต่อเวียดนามในอนาคต
มีรายงานว่า พล.อ.ฮุน มาเนต หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก
ทั้งนี้ สถาบันการพัฒนาตะวันออกของเวียดนาม ซึ่งได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลเวียดนาม เผยแพร่บทความของนักวิจัยสองคน ซึ่งแสดงความวิตกกังวลว่า โครงการคลองฟูนันเตโชอาจกลายเป็น “แผนการยุทธศาสตร์สองทาง” เนื่องจากการขุดคลองอาจเป็นการปรับระดับน้ำ ให้มีความลึกเพียงพอสำหรับเรือรบขนาดใหญ่ ที่จะสามารถเดินทางผ่านอ่าวไทย หรือฐานทัพเรือเรียม ลึกเข้าไปภายในกัมพูชา เท่ากับว่า เข้าใกล้เวียดนามมากยิ่งขึ้น
บทวิเคราะห์ดังกล่าวสะท้อนมุมมองของรัฐบาลเวียดนาม ว่าจริงอยู่ที่หากจีนต้องการโจมตีทางทหารต่อเวียดนาม และใช้กัมพูชาเป็นทางผ่านจริง สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องจำเป็นต้องผ่านฐานทัพเรือเรียม และไม่ต้องรอให้โครงการขุดคลองฟูนันเตโชเสร็จสิ้น แต่รัฐบาลฮานอยถือว่า คลองแห่งนี้ “เป็นการโจมตีทางยุทธศาสตร์” เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กัมพูชาอาศัยท่าเรือหลายแห่งของเวียดนาม ในการนำเข้าและส่งออกสินค้า ส่วนใหญ่เป็นการใช้พื้นที่ของท่าเรือน้ำลึกก๋ายแม็บ ตั้งอยู่ที่เมืองหวุงเต่า ทางตอนใต้ของเวียดนาม
ดังนั้น คลองฟูนันเตโชจะเป็นการสร้างทางลัดให้กับกัมพูชา ในการลำเลียงสินค้าเข้าและออกจากท่าเรือในกรุงพนมเปญ ไปยังท่าเรือในจังหวัดแกบ และจังหวัดพระสีหนุ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่านเวียดนามก่อน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ฮุน มาเนต โต้แย้งในประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องของ “การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ เนื่องจากระยะทางการลำเลียงสินค้าที่สั้นลง จะช่วยให้กัมพูชาสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้มากถึง 1 ใน 3
ทว่ายังคงมีความเป็นไปได้เช่นกัน ว่าหากความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับเวียดนามตึงเครียด จากโครงการขุดคลองฟูนันเตโช นอกเหนือจากเรื่องฐานทัพเรือเรียม รัฐบาลฮานอยอาจตอบโต้ด้วยการปิดเส้นทาง ไม่ให้กัมพูชาเข้าถึงท่าเรือของเวียดนาม หรืออย่างน้อย “ต้องมีการเตือน” ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะเท่ากับเป็นการตัดเส้นทางเศรษฐกิจแทบทั้งหมดของกัมพูชา แต่เวียดนามเคยใช้วิธีดังกล่าวมาแล้ว เมื่อปี 2537
นอกจากประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลฮานอยมองว่า กัมพูชามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนเส้นทางน้ำในลุ่มน้ำโขง หลังไม่พอใจลาวในเรื่องนี้มานานระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของเวียดนาม ที่อยู่ปลายน้ำ และการเจรจาไม่เคยก่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ แม้กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ล้วนเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ( เอ็มอาร์ซี ) โดยมีไทยเป็นสมาชิกด้วยอีกประเทศหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเวียดนามจะต้องเป็นฝ่ายนั่งกังวลตลอดเวลาอยู่ฝ่ายเดียว รายงานโดย เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ระบุว่า ต่อให้โครงการคลองฟูนันเตโชก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการใช้งานเต็มรูปแบบ รัฐบาลฮานอยยังคงมีอิทธิพลที่จะต่อรอง เนื่องจากผลการประเมินโดยผู้สันทัดกรณีหลายฝ่ายระบุตรงกัน ว่าเรือบรรทุกสินค้าของกัมพูชาที่มีน้ำหนักมากกว่า 1,000 ตัน ยังคงต้องพึ่งพาท่าเรือของเวียดนาม บ่งชี้ว่า เวียดนามยังคงมีอำนาจต่อรอง
นอกจากนี้ 22% ของสินค้าที่กัมพูชาส่งออก เมื่อช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีเวียดนามเป็นตลาดรับซื้อ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มาก เนื่องจากแทยไม่มีประเทศใดนำเข้าสินค้าของกัมพูชา มากถึง 1 ใน 5 ของที่มีการส่งออก
ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าที่กัมพูชาส่งออกไปยังจีนนั้น ส่วนใหญ่ยังคงต้องให้เวียดนามทำหน้าที่ส่งออกให้อีกทอดหนึ่ง หากกัมพูชาต้องการลดบทบาทของเวียดนาม จากการเป็นคนกลางในเรื่องนี้จริง “ยังไม่ง่ายขนาดนั้นในทางปฏิบัติ” และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยิ่งบ่งบอกว่า กัมพูชาและเวียดนามบูรณาการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของกันและกันอย่างแยกไม่ออก และศักยภาพของกัมพูชายังคงตามหลังเวียดนามในทุกเรื่อง หากต้องการไปแข่งขันกับอีกฝ่ายแบบนี้ ย่อมไม่เป็นผลดีกับกัมพูชาในระยะยาว.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES