ฉะนั้น “การเพาะเลี้ยงไข่ผำ” จึงเป็นอีกอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับผู้เพาะเลี้ยงได้เป็นอย่างดี อย่าง “แสบ-กมลวรรณ รุ่งประเสริฐวงศ์” ผู้ที่เพาะเลี้ยงไข่ผำขาย และยังต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายขายสร้างรายได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันนี้คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” นำข้อมูลมาให้พิจารณาเป็นกรณีศึกษา…
แสบ-กมลวรรณ เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของ “ไร่แสงสกุลรุ่ง” สวนเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน และฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่ผำ ที่ทั้งขายไข่ผำสด และยังนำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขายภายใต้แบรนด์ “Team phum” โดยเจ้าตัวเล่าว่า…หลังจากเรียนจบด้านกลยุทธ์ทางการตลาดและทำงานประจำอยู่ระยะหนึ่ง จนมาในปี 2559 ก็ตัดสินใจออกจากงานกลับมาอยู่บ้านเกิด จ.กาญจนบุรี เพื่อทำอาชีพเกษตรกร เพราะด้วยที่บ้านมีอาชีพทำการเกษตรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็เลยกลับมาสานต่อได้ง่ายขึ้น โดยในช่วงแรกเริ่มจากเก็บผลผลิตของที่บ้านมาทำตลาดและขายเอง นอกจากนั้นก็ยังนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นด้วย
ส่วนจุดเริ่มของการมาเพาะเลี้ยงไข่ผำนั้นเกิดจากสวนของที่บ้านเป็นการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ไม่ได้ใช้สารเคมีมาเลย จึงทำให้เกิด “ไข่ผำ” ในแหล่งนํ้าที่อยู่ในสวน และจากการศึกษาก็พบว่าตัวไข่ผำนั้นมีประโยชน์มากมาย ทำให้เริ่มมาสนใจในตัวไข่ผำมากขึ้น ก็เลยมาโฟกัสที่ไข่ผำเพราะมองว่าเป็นพืชนํ้าที่มีอนาคตไกล และสามารถต่อยอดแปรรูปได้หลากหลาย จึงเริ่มไปเรียนการเพาะเลี้ยงไข่ผำกับพี่ที่รู้จักกันที่จังหวัดนครราชสีมาและนำความรู้วิธีการที่เรียนมาปรับใช้ทดลองเพาะเลี้ยง
“ไข่ผำที่อยู่ในธรรมชาติมีมากก็จริง แต่ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องของความสะอาดจากลูกค้า และที่สำคัญไข่ผำจากแหล่งธรรมชาติไม่สามารถสร้างราคา หรือกำหนดราคาเองได้ ก็เลยนำมาเลี้ยงในระบบปิด เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญสามารถตั้งราคาที่กำหนดได้เอง ซึ่งก็ใช้เวลาในการทดลองเพาะเลี้ยงอยู่ประมาณ 1 ปี ในที่สุดก็สามารถเพาะเลี้ยงได้สำเร็จ” แสบเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไข่ผำกล่าว
แสบ-กมลวรรณ บอกอีกว่า หลังจากที่ทำการเพาะไข่ผำเป็นที่สำเร็จ ก็เริ่มจากเก็บขายแบบสด แต่ด้วยความที่ไข่ผำมีอายุที่สั้นมากไม่สามารถจัดส่งนอกพื้นที่ได้ ทำให้ต้องมานั่งคิดว่าจะทำยังไงให้ไข่ผำมีอายุในการจัดเก็บได้นานที่สุด และขนส่งไปถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ จึงเกิดความคิดในการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยผลิตภัณฑ์แรกที่แปรรูป คือ “ข้าวเกรียบไข่ผำ” จากนั้นก็ต่อยอดทำเป็น “ผงผำชงพร้อมดื่ม-โจ๊กไข่ผำ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก และนอกจากนั้นก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกหลากหลาย
สำหรับ ทุนเบื้องต้น ในการเพาะเลี้ยงไข่ผำไม่สูงขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์มเพาะเลี้ยง นอกจากนั้นยังสามารถลดต้นทุนได้ด้วยการปรับมาใช้การเพาะเลี้ยงในกะละมังพลาสติกแทนการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ โดยการเลี้ยงไข่ผำ 1 กะละมัง ใช้ทุนอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 200 บาท ซึ่งราคาขายไข่ผำสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากไข่ผำของแบรนด์ “Team phum” อาทิ โจ๊กไข่ผำ 1 ซอง 13 กรัม ราคา 10 บาท/ซอง, ผงชงพร้อมดื่ม กระปุก 20 กรัม ราคา300 บาท/กระปุก และ ข้าวเกรียบไข่ผำ ราคากิโลกรัมละ 200 บาท
วิธีการเพาะเลี้ยงไข่ผำ…เริ่มจากการเตรียมบ่อเพาะเลี้ยงก่อนโดยใส่นํ้าสะอาดลงในกะละมังพลาสติกประมาณ 3 ใน 4 ของกะละมัง หรือ ประมาณ 10 ลิตร ซึ่งนํ้าที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไข่ผำจะใช้นํ้าบาดาล นํ้าประปา หรือนํ้าจากแหล่งไหนก็ได้แค่ต้องไม่มีสารเคมีปนเปื้อน และก่อนที่จะนำนํ้ามาใช้เพาะเลี้ยงไข่ผำนั้นจะต้องนำมาพักทิ้งไว้ 2-3 วันก่อน เมื่อทำการเตรียมนํ้าเสร็จแล้ว ก็ใส่ธาตุอาหารผสมลงไปในนํ้า ประมาณ 10-20 ซีซี/นํ้า 10 ลิตร และทำการผสมคนให้เข้ากัน
“ตัวที่จะทำให้ไข่ผำเจริญเติบโตดีก็อยู่ที่ธาตุอาหาร ซึ่งธาตุอาหารที่เป็นอินทรีย์ ต้องเป็นสารชีวะภัณฑ์เท่านั้น อาทิ นํ้าหมักปลา นํ้าหมักกุ้ง นํ้าหมักมูลไส้เดือน หรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หากต้องการที่จะเน้นปริมาณผลผลิตให้ได้มากก็สามารถใช้เป็นปุ๋ย AB ที่เป็นปุ๋ยเคมีในการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์มีแร่ธาตุผสมกับนํ้าก็ได้ ซึ่งผลผลิตได้มากก็จริงแต่ไม่ได้ราคาเพราะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์” เจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่ผำกล่าว
หลังจากเตรียมบ่อเพาะเลี้ยงเสร็จแล้ว ก็ให้นำพันธุ์ไข่ผำใส่ลงไปในบ่อเลี้ยง โดยใส่พันธุ์ไข่ผำประมาณ 100 กรัม ต่อกะละมัง/นํ้า 10 ลิตร เสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้จนครบ 7 วัน ก็ทำการช้อนตัวไข่ผำขึ้นจากกะละมังเพาะเลี้ยง แล้วทำการล้างกะละมังเลี้ยง 1 ครั้ง และใส่นํ้าผสมธาตุอาหารตามแบบเดิมจากนั้นก็ใส่ไข่ผำลงไปเลี้ยงอีกครั้ง จนครบประมาณ 14 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตขายแบบสดได้…โดย 1 กะละมังเพาะเลี้ยงเก็บไข่ผำได้ประมาณ 400-500 กรัม
ส่วนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ข้าวเกรียบไข่ผำ ผงไข่ผำชงพร้อมดื่ม และโจ๊กไข่ผำนั้น แสบ-กมลวรรณ บอกว่า การแปรรูปนั้นจะใช้วิธีการส่งไข่ผำสดเข้าโรงงานผลิตเพื่อให้ทำการผลิตให้ ซึ่งส่งให้โรงงานผลิตช่วยลดขั้นตอนการผลิต และสามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ แต่ต้องเลือกโรงงานที่ได้มาตรฐานการผลิต ซึ่งหลังจากที่ผลิตออกมาแล้วก็ต้องส่งไปตรวจและวิเคราะห์โภชนาการทางด้านอาหารเพื่อทำการขอ อย. จากกระทรวงสาธารณสุข…การขายสินค้าต้องมีมาตรฐาน จึงต้องมีขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐานที่สุด
“สำหรับคนที่สนใจ การเพราะเลี้ยงไข่ผำขายนั้นไม่ยาก ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่สภาวะแวดล้อม ไข่ผำไม่ชอบแดด และนํ้าที่เลี้ยงต้องสะอาด และที่สำคัญศัตรูพืชที่สำคัญของไข่ผำอย่างเดีย ก็คือสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง เพราะอย่างนั้นต้องเตรียมพื้นที่ที่มั่นใจว่าภายในพื้นที่นั้นไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะต่อให้เลี้ยงเก่งแค่ไหน แต่บริเวณรอบ ๆ ข้าง ๆ ใช้สารเคมี ก็ไม่สามารถเลี้ยงไข่ผำได้” เจ้าของฟาร์มเพาะเลี้ยงไข่ผำกล่าว
ใครสนใจ ไข่ผำสด หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่ผำต่าง ๆ ของ แสบ-กมลวรรณ หรือต้องการเรียนรู้ศึกษาการเพาะเลี้ยงไข่ผำ ก็สามารถติดต่อไปได้ทางเฟซบุ๊ก : ไร่แสงสกุลรุ่ง หรือทางติ๊กต็อก : Team phum…นี่ก็เป็นกรณีศึกษา “การเพาะเลี้ยงไข่ผำ” ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถใช้เป็น “ช่องทางทำกิน” ช่วยเสริมสร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี.
คู่มือลงทุน…เพาะเลี้ยงไข่ผำ
ทุนเบื้องต้น ขึ้นอยู่กับขนาดฟาร์มเพาะเลี้ยง
ทุนปลูก ไม่เกิน 200 บาท/1 บ่อเลี้ยง
รายได้ ไข่ผำสดราคา 200 บาท/กก.
แรงงาน ขึ้นกับขนาดพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยง
ตลาด ขายออนไลน์, กลุ่มคนรักสุขภาพ
จุดน่าสนใจ เพาะเลี้ยงง่าย กำลังได้รับความนิยม
……………………………..
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์