ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำปิงตอนบน มีสัตว์ป่านานาชนิดและพื้นที่ดอยต่างๆ ที่สวยงาม สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง สลับซับซ้อน ติดต่อกันกว้างขวางของทิวเขาผีปันน้ำ มีความสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 400-1,718 เมตร แต่พื้นที่แห่งนี้ยังประสบกับปัญหาไฟป่าทุกปี อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จึงมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า โดยในปี 2567 มีการประชุมวางแผนบูรณาการเชิงพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานบูรณาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังไฟป่า ตลอดจนแผนการดับไฟในห้วงฤดูไฟป่า พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับเครือข่ายชุมชนต่างๆ ในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อวางแผนปฏิบัติการควบคุมไฟป่าระดับตำบล-หมู่บ้าน ตลอดจนร่วมกันกำหนดพื้นที่ชิงเผาโดยการควบคุม การทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า และระยะเวลาการชิงเผาของชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการควบคุมและบริหารจัดการไฟป่าในพื้นที่ของอุทยานฯ

นายอานนนท์ กุลนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีการประชุมและลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทุกหมู่บ้าน ในพื้นที่อุทยานฯ ทั้งหมด 2 จังหวัด 6 อำเภอ 17 ตำบล 144 หมู่บ้าน ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อุทยานฯ เพื่อกำหนดที่จะทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า กำหนดจุดเฝ้าระวังไฟป่า และกำหนดพื้นที่ชิงเผาโดยการควบคุม เมื่อถึงห้วงฤดูกาลและความเหมาะสม การชิงเผาโดยการควบคุม คือ การควบคุมการเผาทุ่งหญ้า ป่าไม้ และพื้นที่ธรรมชาติอื่นๆ ไม่ใช่สิ่งที่ใครคิดอยากจะเผาจะสามารถทำทันที แต่กระบวนการชิงเผาต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่มีการวางแผนและควบคุมอย่างรอบคอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง เช่น การลดปริมาณเชื้อเพลิง ช่วยควบคุมไฟป่าไม่ให้มีความรุนแรงมากเกินไป การชิงเผาจะช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงที่มีอยู่สำหรับไฟป่าที่จะแพร่กระจาย ทำให้ง่ายต่อการควบคุมไฟป่า เป็นต้น

อุทยานฯ จึงมีการวางแผนชิงเผาโดยการควบคุมร่วมกับชาวบ้านได้ประมาณ 10% ของพื้นที่อุทยานฯ โดยเน้นเฉพาะพื้นที่ป่าเต็งรัง ทำให้ช่วงเดือนมกราคม-ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ ไฟป่าค่อนข้างน้อย แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนเมษายน ไฟป่าเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ พื้นที่ชิงเผาโดยการควบคุมที่อุทยานฯ ร่วมกับชุมชนเข้าไปดำเนินการนั้น ต้องเป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่เกิดไฟป่าซ้ำซาก พื้นที่ที่เข้าถึงยาก และมีปริมาณเชื้อเพลิงสะสมค่อนข้างมาก และพื้นที่ป่าในเขตอุทยานฯ ที่ชุมชนเข้าใช้ประโยชน์โดยการเก็บหาของป่า ขณะเดียวกันยังขอความร่วมมือกับผู้นำทุกชุมชนในเขตอุทยานฯ แจ้งแผนการเผาในแปลงเกษตรหรือแปลงปศุสัตว์ เพื่อที่อุทยานฯ จะได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลการชิงเผาโดยการควบคุมและแผนการเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่ของอุทยานฯ

ด้านสาเหตุของการเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา มี 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ไฟป่าในพื้นที่ที่มีการเก็บหาของป่าและไฟป่าในพื้นที่ที่มีการล่าสัตว์ป่า ซึ่งในการจัดการไฟป่าในพื้นที่ที่มีการเก็บหาของป่า ทางอุทยานฯ ได้มีการวางแผนชิงเผาโดยการควบคุมตามพื้นที่ข้างต้น ส่วนพื้นที่ล่าสัตว์ป่าเป็นพื้นที่อยู่ไกลเข้าไปในป่า อุทยานฯ จัดชุดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การเกิดไฟป่าลดน้อยลง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา กล่าวอีกว่า สำหรับอุปสรรคการทำงานในพื้นที่ คือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ ศรีลานนาเป็นพื้นที่ป่าสูงชัน การเดินทางยากลำบาก ต้องใช้เวลานานในการเข้าไปดับไฟป่า เจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปหลายชั่วโมงกว่าจะถึงจุดเกิดไฟ และจะต้องเข้าไปพักค้าง เพื่อควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงไฟป่าที่อยู่ในป่าเต็งรัง ซึ่งต้นไม้มีการสลัดใบทิ้งจนกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีทำให้เกิดไฟป่า แต่เราใช้วิธีการดับไฟค่อนข้างเร็ว ทำให้เกิดความเสียหายและเกิดการลุกลามในพื้นที่ลดลง สำหรับการวางแผนในทำงานแก้ปัญหาไฟป่าในอนาคต หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2568 คิดว่าหากเปลี่ยนวิธีการทำงาน จากชุดเฝ้าระวังเป็นชุดดับไฟป่าในระดับหมู่บ้านน่าจะดีกว่า หรืออาจจะเป็นการจ้างเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเพิ่มเติมขึ้น จากพื้นที่ที่ไม่มีสถานีดับไฟป่า เจ้าหน้าที่จะได้มีกำลังเสริมในการแก้ปัญหาไฟป่า

หากถามว่าพื้นที่เก้าแสนกว่าไร่ในเขตอุทยานฯ เจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่เพียงพอ แต่เมื่อได้เครือข่ายมาช่วยก็สามารถแบ่งเบาภาระลงได้บ้าง รวมทั้งการได้โครงการเงินรายได้ของกรมอุทยานฯ มาจ้างอาสาดับไฟป่าเพิ่มขึ้น ชาวบ้านอาสาเหล่านี้เป็นคนในพื้นที่มีความคุ้นเคยพื้นที่เป็นอย่างดี ก่อนการปฏิบัติงานยังมีการอบรมการใช้เครื่องมือในการดับไฟป่า ทำให้เป็นกำลังสำคัญในการร่วมมือกันแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ได้ อุทยานแห่งชาติศรีลานนา จ.เชียงใหม่ กับการจัดการไฟป่าในพื้นที่ จึงเป็นตัวอย่างสำคัญ สำหรับการทำงานอย่างบูรณาการ มีการวางแผนงานร่วมกันกับภาคีส่วนต่างๆ และที่สำคัญคือ “การพูดคุย” กับคนในพื้นที่รอบเขตอุทยานฯ เพื่อบอกเล่าปัญหาและหาทางแก้ไข “ร่วมกัน” ต่อไป