นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กำลังเร่งออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือร.ง.4 ให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันแน่นอน ซึ่งกรอ.ได้ปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาต ร.ง.4 อย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดขั้นตอนให้สั้นลง ลดระยะเวลา และออกใบอนุญาต ร.ง.4 ให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยกรอ.ได้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ปัจจุบันมีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 187 คำขอ กว่า 66% หรือ 123 คำขอ เป็นคำขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 โรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น จำเป็นต้องพิจารณาเอกสารประกอบการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบรัดกุม มีความปลอดภัย เป็นไปตามหลักวิชาการทุกกระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในอนาคต ภายใต้กระบวนการพิจารณาที่มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตามพบว่า คำขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 ของผู้ประกอบการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมบางรายมีสาระสำคัญบางประการที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ เช่น พื้นที่จัดเก็บหรือจัดวางวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ สารเคมี และวัตถุอันตรายมีความไม่เหมาะสม มีการจัดทำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยไม่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิต ระบบบำบัดมลพิษน้ำและอากาศไม่เหมาะสมกับมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต เพื่อเป็นการป้องกันเหตุที่อาจก่อให้เกิดความอันตรายไม่ปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรอ. จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ให้มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ และมีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ปฏิบัติงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน โดยปัจจุบัน มีคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กรอ. เพียง 16 ราย เท่านั้น

“โรงงานที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง มักพบปัญหาถูกร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยน้ำเสีย กลิ่นเหม็น ฝุ่นควัน รวมทั้งการตรวจพบโรงงานที่ไม่จัดการกากอุตสาหกรรมที่รับมาดำเนินการอย่างถูกต้อง ดังเช่นที่เป็นข่าวในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยอง ราชบุรี เป็นต้น เกิดภาพลักษณ์ด้านลบต่อภาคการผลิตซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ปรับปรุงกระบวนการการทำงาน การพิจารณาออกใบอนุญาต ร.ง.4 ด้วยความรวดเร็วและมีความละเอียดรอบคอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประกอบการภาคอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเติบโตคู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน”