“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เป็นประธานร่วมกับนายอู่ ฮ่าว เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน นอกจากจะมีการรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟไฮสปีด เฟสที่ 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357 กม.แล้ว ยังรายงานความคืบหน้างานสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) ด้วย
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เห็นชอบร่างการออกแบบเบื้องต้นของสัญญา 2.3 แล้ว ทั้งราง ตัวรถ และงานระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานระบบไฟฟ้า และระบบเครื่องกล หลังจากนี้ฝ่ายจีนจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดในส่วนต่างๆ อาทิ การออกแบบลวดลาย สี เบาะที่นั่ง โดยฝ่ายจีนมีแผนเปิดประกวดราคาหาผู้ผลิต (Vender) ให้ได้ภายในปี 67 เพื่อออกแบบรายละเอียด และผลิตตัวรถ คาดว่าในช่วงต้นปี 68 ฝ่ายจีนจะออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ และเสนอกลับมาให้ รฟท. พิจารณาอีกครั้ง ก่อนดำเนินการผลิตตัวรถต่อไป ซึ่งคาดว่าในปี 68 จะได้เริ่มกระบวนการผลิตตัวรถ โดยจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี และจะเริ่มทดสอบการเดินรถประมาณปลายปี 70 ประมาณ 6 เดือน ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 71
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เบื้องต้นจะใช้ขบวนรถ “ฟู่ซิงห้าว” รุ่น CR300 ซึ่งเป็นรุ่นที่ยังเดินรถให้บริการในประเทศจีน ใช้ความเร็วได้สูงสุด 300 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) แต่วิ่งจริงจะใช้ความเร็วสูงสุด 250 กม.ต่อ ชม. โดยจะนำขบวนรถเข้ามาไทย 6 ขบวน 48 ตู้ โดย 1 ขบวน มี 8 ตู้ มีประมาณ 560 ที่นั่งต่อขบวน ไม่มีตั๋วยืน ซึ่ง 6 ขบวนนี้จะวิ่งให้บริการ 4 ขบวน และสำรองไว้ 2 ขบวน ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 2.8-3.7 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 3.7 เมตร แบ่งประเภทที่นั่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ second class จัดเรียงแบบ 3-2 ตลอดความยาวตู้โดยสาร, First class จัดเรียงฝั่งละ 2 ที่นั่ง และ Business class เก้าอี้เดี่ยวฝั่งละ 1 ที่นั่ง ใช้ตู้โดยสารหลังห้องคนขับ ในขบวนรถมีห้องน้ำแบบระบบปิด และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ปัจจุบันงานสัญญา 2.3 วงเงินประมาณ 50,633 ล้านบาท มีความคืบหน้า 0.92% ล่าช้า 45.88% ขณะที่การก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา วงเงินประมาณ 1.79 แสนล้านบาท ภาพรวมมีความคืบหน้าประมาณ 32.31% ล่าช้าประมาณ 28.76% โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอการลงนาม 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ทั้งนี้เมื่อภาพรวมงานก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 70% ฝ่ายจีนจึงจะเข้ามาติดตั้งวางราง รวมถึงติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และจะดำเนินการเดินรถทดสอบต่อไป.