เมื่อวันที่ 8 ก.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า มีการหารือถึงการใช้ชุดตรวจแอนติเจน (Rapid Antigen Test) ร่วมกันระหว่างกรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ และคณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข  และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีมติเห็นชอบ ในแนวทางการดำเนินการใช้ชุดตรวจแอนติเจน เพื่อให้ใช้ได้มีประสิทธิผลสูงสุดและไม่มีปัญหาแทรกซ้อน ซึ่งขณะนี้ ชุดตรวจแอนติเจนขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้วมี 24 ยี่ห้อ ได้รับอนุญาตให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และทำในสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้มี 300 แห่ง  ย้ำว่าไม่เปิดให้ดำเนินการในคลินิกที่ไม่ผ่านการรับรอง

ทั้งนี้ทั้ง 24 ยี่ห้อมีคุณภาพแตกต่าง หลากหลาย การเก็บตัวอย่างที่ใช้เทคนิคการตรวจ บางชนิดเก็บแหย่จมูก แหย่จมูกถึงคอหอย บางอันเข้าทางปากถึงคอหอย เป็นต้น และการทำลายเชื้อของสารทำละลาย น้ำยาที่ใช้ในการตรวจ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกคำแนะนำ การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการกรณีนี้ ถ้ามีความจำเป็นในการใช้ชุดตรวจที่ทราบผลเร็ว โดยมีข้อจำกัดการตรวจ RT-PCR เพื่อเอาผลเบื้องต้นไปดำเนินการบางอย่างก่อนก็ไม่ได้ขัดข้อง

“แต่ขอให้เข้าใจว่าคนตรวจผลเป็นลบ ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ แต่อาจเชื้อน้อย และตรวจไม่เจอด้วยวิธีนี้ หากตรวจแล้วบวก อาจจะต้องยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง เพราะมีจำนวนอยู่บ้างอาจจะเกิดผลบวกลวง เพราะการจะรักษาคนไข้อาจต้องยืนยันอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหากตรวจแล้วผลเป็นลบข้อให้มีการกักตัวเอง เพราะการตรวจนี้มีความไวต่ำกว่าRT-PCR และถ้ามีอาการหรือผ่านระยะเวลาหนึ่งต้องตรวจซ้ำ” นพ.ศุภิจ กล่าว.