เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) “First Seaplane Operations Toward Thailand’s Aviation Hub” ว่า กระทรวงคมนาคม พร้อมผลักดันนโยบายสำคัญด้านการขนส่งทางอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยาน และการขนส่งทางอากาศของประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยได้บรรจุในนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ด้านที่ 1 “คมนาคม เปิดประตูการค้า การท่องเที่ยว สร้างการเป็น HUB เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางทุกมิติ” โดยพร้อมส่งเสริม และสนับสนุนให้ทุกภาคส่วน ได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) อย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายในปี 67

ด้านนายสุทธิพงษ์  คงพูล  ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กพท. มีภารกิจหลักในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของการปฏิบัติการบิน และความปลอดภัยของสนามบิน และที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการ งานเกี่ยวกับสนามบินน้ำ และที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานบนน้ำ  ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Seaplane Operations เพื่อกำหนดมาตรฐานและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสนามบินน้ำและที่ขึ้นลงชั่วคราว ให้มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานการบินสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยพร้อมส่งเสริม และพัฒนา Seaplane Operations ในประเทศไทย ให้มีความปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล และให้สามารถออกใบอนุญาตรองรับเที่ยวบินสาธิต (Demo Flight) ภายในเดือน ธ.ค.67 ตามที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายไว้

ขณะที่นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า บวท. ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการควบคุมอากาศยานทางทะเล ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบของการขนส่งทางอากาศรูปแบบใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีประโยชน์ในด้านการช่วยเหลือสนับสนุนทางการแพทย์ สาธารณสุข ตลอดจนการบรรเทาภัยพิบัติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการให้บริการอากาศยานทางทะเลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ ข้อกำหนด กฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงกระบวนการทำงานและประสานงานต่างๆ เพื่อให้ Seaplane Operations เป็นไปด้วยมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งนับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของทุกหน่วยงาน ในการเปิดมิติใหม่ทางการบิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาคต่อไป.