เมื่อวันที่ 4 ต.ค. รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. ร่วมกับ มูลนิธิมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง จัดงาน “ครบรอบ 129 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครู และการสถาปนาการฝึกหัดครูไทย” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานในพิธี

โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ขอชื่นชมชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ ผ่านการจัดการมายาวนานถึงร้อยกว่าปี และแม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะทำการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในแบบ New Normal ที่มักใช้มักใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการช่วยอำนวยความสะดวก แต่ตนคิดว่าเทคโนโลยีไม่สามารถมาทดแทนครูได้ ดังที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2539 ว่า “…สมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง ทำให้สามารถที่จะทำกิจการโรงเรียน กิจการสั่งสอน แพร่ออกไปได้มากกว่า แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรมไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย…แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง แต่ว่าที่จะอบรม โดยใช้สื่อที่ก้าวหน้า ที่มีเทคโนโลยีสูงนี่ยากที่สุดที่จะอบรมบ่มนิสัยด้วยเครื่องเหล่านี้ ฉะนั้นไม่มีอะไรแทนคนสอนคน…”

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า ความสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อระบบการศึกษาของไทย ด้วยจุดแข็งด้านการสอน การศึกษา และมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่นและชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงเหมาะสำหรับอยู่ในกลุ่ม การพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ที่ อว.ได้แบ่งประเภทไว้ และได้มอบนโยบายให้นำจุดแข็งดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประโยชน์ต่อท้องถิ่นและสังคม ซึ่งแม้ว่าประโยชน์ต่อท้องถิ่น และสังคมบางอย่างนั้น ไม่เหมาะในการนำมาเขียนเป็นตำราหรือทำเป็นงานวิจัย แต่ผลงานที่เป็นรูปธรรมในชุมชนพื้นที่อาจจะมีประโยชน์มากกว่างาน ที่เป็นตำราหรือเป็นงานวิจัยเสียอีก

นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายที่ให้อาจารย์วิทยาลัยราชภัฏใช้ผลงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนหรือพื้นที่ ผลงานด้านศาสนาและปรัชญา ผลงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการสอน มาขอตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ แทนการใช้ตำราหรืองานวิจัยในรูปแบบเดิม ขณะนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปทาง อว.จะจัดทำเกณฑ์และคู่มือในรายละเอียดเพื่อประกาศใช้ เห็นได้ว่าทั้งการแบ่งประเภทของมหาวิทยาลัย และการขอตำแหน่งทางวิชาการรูปแบบใหม่ ล้วนเอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยราชภัฏ

“ผมให้นโยบายว่าให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้ แต่ต้องใช้ชื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏต่อไป ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็รับทราบ และเห็นด้วยอย่างยิ่ง” รมว.อว. ระบุ

ด้าน ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานในปีนี้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้ทรงสถาปนาโรงเรียนการฝึกหัดอาจารย์ ในปี พ.ศ. 2435 และพระมหากรุณาธิคุณแห่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานนาม “ราชภัฏ” ในปี พ.ศ. 2535 และตราพระราชลัญจรซึ่งเป็นตราประจำพระองค์ ให้เป็นสัญลักษณ์ของสถาบันราชภัฏในปี พ.ศ. 2538 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏในปี พ.ศ. 2547 และเพื่อสืบสานวัฒนธรรมของการฝึกหัดครู รวมถึงรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับแนวคิดและสาระสำคัญในบทบาทหน้าที่ของครู ในสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ที่จะนำมาพัฒนาคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของ มบส.ต่อไป

ภายในงานยังมีกิจกรรมที่สำคัญ คือพิธีสงฆ์ พิธีถวายเครื่องราชสักการะพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีเปิดงาน และกิจกรรมเชิงวิชาการ โดย ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส.