ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวว่าที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ให้การสนับสนุนโครงการประสานงานเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ปี พ.ศ.2563 มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพของแกนนำผู้ประสานงานในเครือข่ายพื้นที่ทั้งระดับจังหวัดและภูมิภาคให้มีทักษะที่หลากหลายในการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือเด็กนอกระบบแบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยมีการดำเนินงานใน 3 ส่วน ได้แก่ 1.จัดทำยุทธศาสตร์การทำงานพัฒนาเด็กนอกระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย 2.พัฒนากลไก ภาคี เครือข่ายการทำงานขับเคลื่อนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา และ 3.จัดทำต้นแบบ/องค์ความรู้รูปแบบการช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำงานของภาคีเครือข่ายด้านเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ที่ครอบคลุมกรอบการดำเนินงานข้างต้น อันได้แก่ 1.เพื่อประสานงาน ติดตาม ประเมินผล และสนับสนุนทางวิชาการให้กับ 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ของชุดโครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา 2.เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้และถอดบทเรียนการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้และการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดย 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ 3.เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานของ 41 ภาคี/เครือข่ายเชิงพื้นที่ให้ได้กลไกการทำงานเด็กนอกระบบในระดับพื้นที่ร่วมกับภาคีความร่วมมือของหน่วยงาน/องค์กรในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบการช่วยเหลือเด็กนอกระบบที่สอดคล้องกับปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและต้นแบบชีวิตเด็กนอกระบบที่มีความสามารถดำรงชีพในด้านทักษะและการจัดการตนเอง

นางสาวบุบผาทิพย์ แช่มนิล ในฐานะผู้ประสานโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก เปิดเผยว่า มีการดำเนินงานในในส่วนของการดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันออก มีการดำเนินงานใน 3 โครงการ ดังนี้ 1.ภาคตะวันออกโซน 1 (ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา) โดยกลุ่มรักษ์เขาชะเมา 2. ภาคตะวันออกโซน2 (ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว) โดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานร่วมกับ เครือข่ายครูเพื่อสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก 3. ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทย กรีน ไลท์ พื้นที่เป้าหมายภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ ระยอง ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ ประกอบด้วยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 2,081 คน ครูนอกระบบการศึกษาจำนวน 120 คน

ในส่วนของการดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคกลาง มีการดำเนินงานใน 4 โครงการ ดังนี้ 1. ภาคกลาง 9 จังหวัด โดยสมาคมวิถีชนบท 2. ภาคกลาง (กลุ่มเยาวชนที่ประกอบอาชีพแรงงานอุตสาหกรรม) โดยบริษัท วิสดอมแลนด์ จำกัด 3.ภาคกลาง (พื้นที่คลองเตย) โดยมูลนิธิรวมน้ำใจ 4. ภาคกลาง (กลุ่มเด็กผู้ต้องโทษในเรือนจำ/ทัณฑสถาน) โดยโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ พื้นที่เป้าหมายภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ ประกอบด้วยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 2,838 คน ครูนอกระบบการศึกษาจำนวน 214 คน

ในส่วนของการดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคตะวันตก มีการดำเนินงานใน 3 โครงการ ดังนี้ 1.ภาคตะวันตก 4 จังหวัด (นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี และสมุทรสงคราม) โดยสมาคมสหภาคีเพื่อผู้บริโภค จ.นครปฐม 2. ภาคตะวันตกเขตตะนาวศรี โดยมูลนิธิปฐมบรมราชานุสรณ์ 3. ภาคตะวันตก: กาญจนบุรี สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันต์ โดยมูลนิธิไทย-มอญพัฒนา พื้นที่เป้าหมายภาคตะวันตก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินการ ประกอบด้วยเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวน 2,156 คน ครูนอกระบบการศึกษาจำนวน 98 คน

นางสาวบุบผาทิพย์ แช่มนิล ให้ข้อมูลว่า จากโครงการฯ เด็กนอกระบบมีทักษะอาชีพ เทคนิคอาชีพสู่การสร้างรายได้ ลดรายจ่าย เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ มีทักษะชีวิตสิทธิและความเท่าเทียมจากภายใน เกิดกระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์จากสร้างห้องเรียนชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและเปิดพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ปลอดภัย ทำให้เส้นบางๆ ของความไม่เท่าเทียมได้ลดลงไป เกิดเครือข่ายครอบครัว ความรู้ของชุมชน การส่งต่อเด็กนอกระบบให้มีโอกาสในชีวิต ริเริ่มกลไกปกป้องคุ้มครองเด็กในชุมชน การส่งต่อ การปรับทัศนคติ

ดร.รัชนี นิลจันทร์ มูลนิธิรวมน้ำใจ กล่าวว่า เด็กเยาวชนนอกระบบเกิดการค้นหาตัวตนเสริมสร้างแรงบันดาลใจ และการวางแผนชีวิตสร้างเป้าหมายใหม่ มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ดึงศักยภาพให้เข้าจัดการตัวเอง มีชีวิตในการยังชีพด้านอาชีพที่มั่นคง เด็กเยาวชนมีปัญหาที่หลากหลายและแตกต่างกัน เช่น เด็กกำพร้า ยากจน เปราะบาง ท้องไม่พร้อม ไร้สถานะบุคคล ครอบครัวแหว่งกลาง และกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งเมื่อเราวิเคราะห์ปัญหาแล้วก็จะขับเคลื่อนรูปแบบการช่วยเหลือและสร้างการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพและทักษะการใช้ชีวิต

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก หนึ่งในภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนงานครั้งนี้กล่าวว่า อยากให้มีการส่งเสริมทักษะครูนอกระบบการศึกษาในส่วนที่เขาขาดอยู่ หรือช่วยเสริมทักษะที่เขามีอยู่แล้วให้ยกระดับสูงขึ้นไปอีก เพื่อที่เราจะได้มีเพื่อนร่วมทางในการทำงานขับเคลื่อนที่เยอะขึ้น ดียิ่งขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น
ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ โรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ ICHEF กล่าวว่า กลุ่มเด็กผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถานเกิดแรงจูงใจ ตั้งเป้าหมายชีวิต เยียวยาบาดแผลในใจ ฝึกความอดทนอดกลั้น สัมผัสกับความสำเร็จเล็กๆ มีความสุขจากความอุตสาหะ เห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดทัศนคติใหม่ และเกิดความภาคภูมิใจ ต้องการให้เด็กเยาวชนมีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองได้ โดยใช้การเรียนรู้การทำอาหารให้อร่อยและทำให้เป็น เพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในวันที่เด็กเยาวชนต้องออกจากสถานแห่งการเรียนรู้นี้

ดร.วิฑูรย์ คุ้มหอม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า เด็กนอกระบบมีทักษะการเรียนรู้เพื่อความมั่นคงในชีวิต มีตัวตนและเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองและไม่เป็นภาระ มีทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนเกษตรเพื่อชีวิตและอาชีพ เห็นช่องทางการก้าวไปสู่ความเป็นตัวตน การสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษและชุมชน เกิดนวัตกรรมการทำงานการพัฒนาเด็กนอกระบบผ่านกระบวนการเรียนการสอนพัฒนาชุมชนที่มีสถาบันการศึกษาสาขาพัฒนาชุมชนเข้ามาบูรณาการในการทำงานช่วยเหลือเด็ก สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สาขาพัฒนาชุมชนได้ทำงานกับชุมชนจริง ทำงานกับชุมชนจริง จึงได้ข้อเท็จจริงจากชุมชน

ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธุ์ จาก บริษัท วิสดอมแลนด์ จำกัด กล่าวว่า โครการฯนี้ ก่อให้เกิดการร่วมมือกันของคนในพื้นที่ ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ผ่านการวิเคราะห์บริบทชีวิตของเด็กเยาวชน และสำรวจความต้องการก่อนลงมือปฏิบัติ และต่อยอดสิ่งที่พวกเขาต้องการต่อไป รวมถึงการฝึกฝนและเสริมความรู้ให้พวกเขา และที่ขาดไม่ได้คือการให้กำลังใจกันและกัน ซึ่งสิ่งที่เราค้นพบเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไปก็คือ นวัตกรรมที่เกิดจากการทำงาน เป็นการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น เนื่องจากเด็กเยาวชนประกอบอาชีพเป็นของตนเองอยู่ แต่เมื่อเด็กได้เรียนรู้ผ่านวิทยากร ผ่านชุมน และผ่านครูพี่เลี้ยง เขาก็จะได้เห็นข้อดีและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จะนำพาเขาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้