ที่ผ่านมา ปักกิ่งสนับสนุนการพัฒนาถ่านหินทั่วโลก รวมถึงในกัมพูชา ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินเกือบทุกแห่ง ล้วนเกี่ยวพันกับจีน การประกาศของผู้นำแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วต่อจากนี้กัมพูชาจะไปต่ออย่างไร ? เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า “ไม่มีปัญหา”

บทความในหนังสือพิมพ์พนมเปญ โพสต์ โดยผู้เขียน บริดเจต แม็คอินทอช ผอ. EnergyLab in Cambodia องค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของพลังงานสะอาดในกัมพูชา บอกว่า กัมพูชามีโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่ง มีทั้งกำลังปฏิบัติการ และกำลังก่อสร้าง ในปี 2563 พลังงานที่ผลิตภายในประเทศ 47% มาจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 675 เมกะวัตต์ คาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อยู่ที่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ หลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ 2 แห่งก่อสร้างแล้วเสร็จ ในจังหวัดอุดรมีชัย และจังหวัดพระสีหนุ

การประกาศของผู้นำจีน อาจส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโครงการในกัมพูชา ที่เพิ่งเริ่มก่อสร้าง และงบการเงินยังไม่ลงตัว นี่รวมถึงโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง และข้อตกลงกับ สปป.ลาว ในการนำเข้าพลังงานถ่านหินขนาด 2,400 เมกะวัตต์

แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในกัมพูชา สามารถทดแทนได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และระบบกักเก็บพลังงาน นอกจากนั้น แผนการเพิ่มพลังงานถ่านหินเป็น 7 เท่า ที่รัฐบาลกัมพูชาประกาศ หลังเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในปี 2562 ทำให้มีพลังงานเหลือเกินต้องการ และตอนนี้ อัตราเติบโตของความต้องการพลังงานในประเทศลดลง จาก 20% เหลือเพียงแค่ 6% ในปี 2563 จากการระบาดของโควิด-19 ดังนั้น หลายโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้างตามแผน อาจทำให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกิน

แม้ว่ากัมพูชาต้องพึ่งพากระแสไฟฟ้านำเข้ามากขึ้น จากเขื่อนใน สปป.ลาว นับตั้งแต่เกิดภาวะขาดแคลนพลังงาน แต่ในปี 2563 อัตราเพิ่มของพลังงานจากแสงอาทิตย์ สูงกว่าอัตราเพิ่มของพลังงานจากถ่านหินเสียอีก

ในแผนพลังงานแห่งชาติฉบับปัจจุบัน Power Plan to 2030 รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติการผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม รวม 1,880 เมกะวัตต์

แม็คอินทอช กล่าวว่า ผลผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ แต่โรงงานเหล่านี้เชื่อถือได้ และผลผลิตคาดเดาได้ ด้วยเทคโนโลยีตรวจสอบ ระบบกักเก็บพลังงานมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ แสงอาทิตย์และลม ไม่มีอยู่ในแผนทดแทนแหล่งพลังงานที่กัมพูชามีอยู่ในปัจจุบัน

พลังงานจากถ่านหิน น้ำและน้ำมัน จะยังอยู่ในระบบต่อไป แต่การทดแทนโรงไฟฟ้าฟ้าพลังถ่านหิน ที่ไม่ได้ก่อสร้างตามแผน ด้วยพลังงานแสงแดด ลมและระบบกักเก็บพลังงาน จะทำให้กัมพูชามีพลังงานเหลือเฟือและยั่งยืน และทำให้ราคากระแสไฟฟ้าถูกลงด้วย

โรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เวลาก่อสร้างนาน และเงินทุนสูง ตามที่เห็นได้ชัดเจนในเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์สร้างได้เร็วกว่า และใช้เงินทุนน้อยกว่า กัมพูชาเพิ่มกำลังผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็น 3 เท่า นับตั้งแต่ปี 2561

ราคาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ มีความผันผวนสูงเป็นประจำ  ราคาอยู่ที่ 60–150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในช่วง 15 ปีล่าสุด โดยราคาเฉลี่ยช่วงต้นปีนี้สูงถึง 185 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ก่อนจะลดลงต่ำกว่า 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

ในแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติ 2030 ของกัมพูชา 75% ต้องอาศัยการนำเข้า ทั้งถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ การเพิ่มพลังงานหมุนเวียน หมายถึงความเป็นอิสระ และความมั่นคงด้านพลังงานดีขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS