วันนี้ (8 ก.ค.) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ กำหนดการใหม่สำหรับการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) โดยจะจัดประมูลในวันที่  28 ส.ค.64 จากกำหนดเดิมวันที่ 24 ก.ค.64 หลังจากที่มี บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด ซึ่งบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 100% เข้ามายื่นเอกสารเข้าร่วมการคัดเลือกเพียงรายเดียว ทั้งนี้เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจรายอื่นๆ เข้าร่วม และก่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล ประกอบกับได้พิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้

สำหรับกรอบระยะเวลาใหม่นั้นในวันที่ 8 ก.ค.-6 ส.ค. จะ เปิดให้มีการรับเอกสารการคัดเลือกเพิ่มเติม วันที่ 9 ส.ค.จัดการประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงกระบวนการประมูลฯ วันที่ 11 ส.ค. ผู้ประสงค์ขอรับอนุญาตยื่นคำขอ รับอนุญาตและวางหลักประกัน วันที่ 18 ส.ค. ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ วันที่ 24 ส.ค. ประกาศรายชื่อ ผู้เข้าร่วมการคัดเลือกที่ผ่านเกณฑ์ วันที่ 25 ส.ค. จัดการประชุมชี้แจงขั้นตอนและสาธิตการประมูล  และวันที่ 28 ส.ค. เป็นวันประมูลจริง

นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอให้ชะลอการประมูล ออกไปนั้น ทาง กสทช.เรียนชี้แจ้งว่า การประมูละครั้งนี้ ทาง กสทช. มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย และต้องรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และ แม้ กสทช.จะเป็นรักษาการ ก็ยังต้องดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอยู่  

 ซึ่งในการรักษาสิทธิดังกล่าว จำเป็นต้องมีการใช้งานบนดาวเทียมจริง เพราะหากไทยถูก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ( ITU) ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้มีการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ที่ได้รับจริงภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง ก็มีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกยกเลิกสิทธิ ออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศได้ นอกจากนี้ก็ไม่ได้เป็นการรอนสิทธิในการบริหารทรัพย์สิน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของกระทรวง ดีอีเอส แต่อย่างใด

“ด้วยเงื่อนเวลา และข้อจำกัดต่างๆ แต่ กสทช.ก็ยังคงดำเนินการจัดการประมูล ในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ด้วยความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนโดยคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ และความเป็นไปได้ทั้งในทางเทคนิคและทางธุรกิจ” นายไตรรัตน์ กล่าว