ตอนนั้นคุ้นๆ ว่า จะให้แก้ในส่วนของ สว.ทั้งอำนาจ ที่มา และบทบาทในการเลือกนายกฯ ในบทเฉพาะกาล เป็นเรื่องที่พูดกันแรกๆ เพราะมีคนกังวลว่า เสียง สว.250 เสียงก็พอจะทำให้ขั้วอำนาจ คสช.สามารถตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งตอนนั้นก็ตั้งได้จริงแต่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และมีการโวยวายกันอยู่บ่อยๆ ตอนสมัยประชุมสุดท้ายเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ ทำให้หลายๆ คนรู้ว่า ระดับองค์ประชุมที่ปลอดภัยคือ รัฐบาลควรจะได้เสียง 300++ น่าจะถึง 350 ก็ได้
แต่ก็ไม่ได้แก้ไขอะไรจริงจังนักในช่วงสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ก็จำไม่ค่อยจะได้ว่ามี “คณะกรรมการศึกษา” อีกหรือเปล่า เพราะประเทศนี้ชอบตั้งกรรมการศึกษากันเหลือเกิน แล้วโยนผลเข้าลิ้นชักไม่สนใจ แต่ละคณะก็ไปเอาพวกภาษีทางสังคมดี ผู้อาวุโสมาคิดแผนโน่นแผนนี่ ค่าเบี้ยประชุมก็แพง ..จึงเป็นที่น่าสะใจ เมื่อจะตั้งกรรมการพิจารณานิรโทษกรรมขึ้นมาอีก และจะไปทาบทามนายคณิต ณ นคร ที่เคยเป็นประธานกรรมการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 53 มาร่วมด้วย นายคณิตปฏิเสธแล้วตอบว่า “ก็รายงานเรื่องความปรองดองมันมีอยู่แล้ว ไปอ่านสิ”
ก็สงสัยว่า สถานการณ์เมืองไทยมันคงจะเปลี่ยนบ่อย บ๊อย บ่อย จนกระทั่งผ่านไปสองสามปีนี่รายงานเดิมๆ ใช้ไม่ได้ ..บางคนว่าประโยคนี้จิกกัด แต่บางคนก็เห็นด้วย เขาบอก “เมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้” เห็นประกาศปาวๆ ให้ดูหน้าดิฉันไว้ว่าไม่จับมือกับพวกทำรัฐประหารแน่นอน ตอนนั้นส้มกับแดงก็ดีใจจะจับมือกันได้ แต่ต่อมา เพื่อไทยดันไปจับกับขั้วรัฐบาลเก่าเสียนี่ โดยมีข้ออ้างว่า สว.นั่นแหละที่ไม่เอาพรรคก้าวไกล เนื่องจากฟังนายชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทยอภิปรายในเชิงเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลกับพวกหมิ่นสถาบัน
ทำให้แดงกับส้มก็แตกกันอีก ต่อมาก็อ้างว่า มีพวก “คายส้ม”กลับไปเป็นแดง หรือมีแดงทนไม่ไหวไปเป็นส้ม อะไรก็ไม่รู้ให้มั่วไปหมด..แบบนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่า รายงานเรื่องความปรองดองต่างๆ เมืองไทยคงทำกันไม่มีวันจบ เพราะเรื่องของความขัดแย้งมีตัวแปรใหม่เข้ามามากมาย ..ซึ่งมีผู้รู้บอกว่า “ประเทศนี้คิดแต่ผลประโยชน์ไม่คิดแบบสูงสุดสู่สามัญเอง” พอถามว่าหมายถึงอะไร เขาก็บอกว่า “ง่ายๆ กฎหมายประเทศนี้มันสองมาตรฐาน คนเห็นแก่ตัว”
เขาอธิบายความว่า เหตุที่ความปรองดองไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มีความยุติธรรม ตั้งแต่ตอนสลายม็อบเสื้อแดง ซึ่งสอบกันอีท่าไหนไม่รู้ จบลงตรงหาคนทำผิดไม่ได้ โทษชายชุดดำไปเรื่อย ผู้สูญเสีย, ผู้มีอุดมการณ์เดียวกับผู้สูญเสียก็รู้สึกคับแค้นใจ ซึ่งเรื่องนี้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงพยายามเสนอกฎหมายให้อำนาจประชาชนฟ้องตรงได้ ในกรณีการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องรับผิด ไม่จำเป็นต้องผ่าน ป.ป.ช. แต่กฎหมายก็ถูกปัดตกไป เพราะฝั่งที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า ควรมีองค์กรอย่าง ป.ป.ช.ที่ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน พิจารณา ก่อนสั่งฟ้อง ซึ่งกฎหมายก็เอื้อให้แล้วว่า ถ้าอัยการเห็นแย้ง ป.ป.ช.ฟ้องเองได้ แต่ถ้าให้ประชาชนฟ้องรายคดี เห็นทีคดีจะเต็มศาล
แล้วกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า ทำให้ผู้สูญเสียถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลาหรือไม่ พร้อมกับคำถามว่า “ตอนนี้คดีเกี่ยวกับม็อบ กปปส.ไปถึงไหนแล้ว?” ซึ่งควรจะถูกฟ้องเรื่องทำลายระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ เนื่องจากปฏิเสธการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ จะเอาปฏิรูปก่อนเลือกตั้งโดยที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจอะไรไว้ว่าจะให้ทำอย่างนั้นได้ อย่างเก่งคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกคำสั่งให้มีคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นตรงกับสำนักนายกฯ แล้วไปเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ …คือถ้ามองข้อเรียกร้องของเสื้อแดง ให้ยุบสภาเพราะมีการตั้งรัฐบาลจากงูเห่าภูมิใจไทย เทียบกับข้อเรียกร้องของ กปปส. จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ..สามัญสำนึกก็ควรบอกว่า สิ่งที่ทำได้คือสิ่งที่ทำแล้วไม่ผิดกฎหมาย การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา มันทำได้เป็นสิทธิ์ตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ์ ..แต่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ์ไว้มาตราไหนให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ?
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เข้ามารวบอำนาจ ซึ่งจะใช้คำว่ายึดอำนาจก็กระไรอยู่เพราะตอนนั้นคือบ้านเมืองอยู่ในสภาพสุญญากาศ สภาไม่มี ฝ่ายบริหารไม่มี ไม่เหมือนตอนรัฐประหารสมัยนายทักษิณ ชินวัตร นั่นคือการยึดอำนาจจริง เพราะทั้งสภาทั้งฝ่ายบริหารมีครบ และคนก็เริ่มเห็น“ความบิดเบี้ยว” ตั้งแต่การตั้งเพื่อนทหารมากินตำแหน่ง สนช., สว. การใช้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน แล้วก็ถูกโหวตคว่ำ ซึ่งนายบวรศักดิ์ก็พูดเป็นนัยๆ ว่า “เขาอยากอยู่นาน” ต่อมาตั้งกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็มีการเขียนกับดัก สว.ไว้ว่า “ต้องมี สว.บทเฉพาะกาลเพื่อการปฏิรูป” มีอำนาจห้าปี เท่ากับเลือกนายกฯ ได้สองรอบ
บุคลิกของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประเภท “ขี้สั่ง ขี้ทวงบุญคุณ” โดยเฉพาะประโยคถ้าผมไม่เข้ามาบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ซึ่งมันทำให้ภาพลักษณ์เป็นผู้นำที่ดูน่าเบื่อออกไปทางเผด็จการ แม้ว่าตัวจริงบิ๊กตู่จะออกขี้เล่นด้วยซำ .. อีกทั้งคนเห็นความบิดเบี้ยวในส่วนคำวินิจฉัยบางเรื่องขององค์กรอิสระที่รู้สึกว่า “มีแต่เป็นคุณกับรัฐบาล” ขนาดเรื่องเหมืองทองอัครา ตีความคำว่า “พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่” ( เพราะมันเกี่ยวกับเรื่องต้องจ่ายชดเชยบริษัทเอกชนที่มาลงทุน ) ก็มึนกันไปเป็นแถบๆ หรือเมื่อมีการตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ก็โดนยื่นร้องเรียนทั้งเรื่องคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบ เรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีบางคนที่เคยติดคุกในต่างประเทศ แต่รัฐบาลไม่ระคายอะไร
ก็ทำให้มีหลายคนบอกว่า“ตาสว่าง”แล้ว เปลี่ยนไปเป็นส้มหรือแดงแทน.. แล้วก็เคลื่อนไหว “ให้มันจบที่รุ่นเรา” แนวๆ ต่อต้านอำนาจนอกระบบ ซึ่งทางกองเชียร์บิ๊กตู่เขาก็ว่าบิ๊กตู่มาตามกฎหมาย ..ฝั่งที่ไม่เชียร์ก็ว่ามะเหงกแน่ะ กฎหมายเขียนให้มีพรรค สว.250 เสียงช่วยโหวตขนาดนั้น ตอนนั้นขบวนการ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” พยายามเรียกร้องความเป็นเสรีนิยม ตั้งกลุ่มอะไรขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามต่อ“คุณค่าเดิม” และเรียกร้องให้รื้อถอนมันออกไป..ขบวนการเหล่านั้นมาอ่อนแรงลงเมื่อมีการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโรคโควิดที่ทำให้ต้อง shut down เมืองไปเป็นปี ..และก็มีข่าวลือออกมาประเภทอมเงินบริจาคกันเองมาคอยทำลายขบวนการ หลังๆ บางคนติดคุกก็ไม่เป็นที่สนใจ .. จนมันกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์เล็กๆ ที่ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากถึงระดับต้องบันทึกกันเป็นจดหมายเหตุ
ทีนี้ พอมีรัฐบาลใหม่ ที่..ก็รัฐบาลเดิมเพิ่มเพื่อไทยเขี่ยประชาธิปัตย์ออกไป กระแสเรียกร้องให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่มาอีกครั้ง ด้วยความฝันสูงสุดว่า “เป็นรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีความเสมอภาคเท่าเทียม” ความเสมอภาคเท่าเทียมที่ใฝ่ฝันคือการจัดรัฐสวัสดิการที่เหมาะสมกับทุกคน มีการเก็บภาษีที่เป็นธรรม ซึ่งนั่นต้องมีจิตสำนึกหน้าที่พลเมืองด้วย ไม่ใช่หาเรื่อง“วางแผนภาษี”ให้ไม่ต้องเสียหรือเสียต่ำกว่าที่ควรเป็น ..แล้วมีอะไรโวยวายบอกภาษีกูๆๆ พอถามภาษีอะไรบอกได้แค่ vat ..รัฐสวัสดิการที่เหมาะสมจึงต้องมาจากคนที่รู้หน้าที่พลเมืองในการเสียภาษี เข้าใจหลักการเฉลี่ยสุข คือ อย่าคิดว่าเสียภาษีไปให้รัฐโกงกิน แต่มันเป็นเงินที่นำไปช่วยเหลือคนที่ยากลำบากอีกมากมาย ..และถ้ามีรัฐสวัสดิการแบบเงินอุดหนุนจริง คนรับเงินก็ต้องเข้าใจหน้าที่พลเมืองที่จะต้องทำงานไม่รอแบมือขอเงินอุดหนุน
ความเท่าเทียมที่สำคัญอีกอย่างที่มีผลต่ออารมณ์อย่างมาก คือ ความเท่าเทียมในกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องไม่ล่าช้า และไม่ขัดสายตาประชาชน ตัวอย่างเรื่องที่ทำให้คนวิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของไทยรุนแรงคือลูกไฮโซขายเครื่องดื่มบำรุงกำลังขับรถชนตำรวจตาย เป็นหวัดเลื่อนขึ้นศาลได้ไม่รู้กี่ครั้ง กว่าจะออกหมายจับ โน่น เขาไปอยู่ต่างประเทศแล้ว แถมมีกระบวนการช่วยในเรื่องการเปลี่ยนความเร็วรถอีก ..เป็นคดีที่น่าสมเพชว่า คนผิดเต็มไปหมดยกเว้นอีตัวต้นเรื่องไม่ต้องรับผิด ..และกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ทักษิณถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ทางพรรคก้าวไกลเสนอทางออกที่สวยๆ ให้ด้วยซ้ำเกี่ยวกับเรื่องการล้างผลพวงจากรัฐประหาร
แต่สงสัยแม้วเขาขี้เกียจรอนาน เลยกลับประเทศมาแล้วก็ป่วยปริศนานอนติดเตียง6 เดือน พอออกมาได้สักวีคก็สบายดีเดินปร๋อ ซึ่งวิธีแบบนี้ทำให้คนยิ่งรู้สึกถึงการเลือกปฏิบัติ อยากถามว่าคนจนมีสิทธิ์ไหมค้าบ..ที่จะได้นอน รพ.ราชทัณฑ์นานขนาดนั้น ไม่ต้องติดตะรางสักวัน ( ติดอยู่ไม่กี่ชั่วโมง ) นักโทษบางคนป่วยหนักกว่า ก็ไม่เห็นได้ไปอยู่โรงพยาบาลข้างนอก อารมณ์แบบ..ออกไปวันไหนราชทัณฑ์ตามนับวันทันที ลุกขึ้นได้ก็กลับตะรางซะมี รพ.อยู่ ..และกรณีนี้เกิดเอฟเฟคต่อเพื่อไทยในด้านลบมาก ว่า ที่แท้ก็เป็นรัฐบาลพาพ่อกลับบ้าน ..ถึงจะชี้แจงอย่างไร แต่ภาพความเป็น “อภิสิทธิ์ชน” มันทำให้คนคิดไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะว่า “ที่ยอมหักกับก้าวไกลไปเอาพรรครัฐบาลชุดเดิม เพื่อทักษิณกลับบ้านหรือไม่?” เอาหน้าไปจ่อถามเขาก็บอกแค่ว่า เพราะก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้เอง สว.ไม่เลือก
ส่วน“ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” มันเริ่มตั้งแต่ที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่ทางพรรคก้าวไกลเสนอว่า กรรมการยกร่างควรจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน แต่เท่าที่ฟังจากฝั่งรัฐบาล เขาจะให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งแรกถามว่า “จะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือไม่” ส่วนครั้งที่สองจะถามถึงเรื่องการออกแบบ ส.ส.ร. ว่า “จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หรือเป็น ส.ส.ร.เลือกตั้งส่วนหนึ่ง แต่งตั้งส่วนหนึ่ง” ก็ต้องไปคิดคำถามประชามติดีๆ เพราะจะถูกตั้งคำถามเรื่อง ส.ส.ร.แต่งตั้งอีก ว่า เอามาจากไหน เป็นคนของขั้วอำนาจเก่าหรือไม่ เป็นคนของพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งบางคนเขาทำงานกับพรรคแต่ไม่ได้ว่าต้องสมัครสมาชิกพรรค เพราะมันติดขัดอะไรหลายอย่าง อย่างคุณจะลง สว.ก็ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ทีนี้ สามขาของประเทศ ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ก็ควรจะมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน หรือกระทั่งการตรวจสอบถ่วงดุลที่เชื่อมโยงกับประชาชน ในส่วนของฝ่ายตุลากร ก็อาจต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลโดยสภาบนหรือสภาล่าง ที่จะต้องมาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระควรผ่านการเลือกที่ออกแบบให้เห็นว่า “ประชาชนมีส่วนร่วม และมีระบบตรวจสอบว่าไม่ใช่คนของฝ่ายการเมือง หรือเป็นคนที่ฝ่ายการเมือง “ซื้อได้”ในอนาคต ..ขณะที่ในฝ่ายนิติบัญญัติเอง ก็ต้องส่งเสริมกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอมากกว่านี้ ไม่ใช่เรื่องไหนดีๆ ก็เอาร่างรัฐบาลประกบแล้วเคลมเป็นของรัฐบาล มันจะช่วยให้เกิดความรู้สึกถึง “ความเป็นเจ้าของประเทศ” มากขึ้น
นี่คือโมเดลในฝันของรัฐธรรมนูญที่คิดคร่าวๆ แต่เชื่อว่า ถึงวันยกร่างก็ต้องมีฝ่ายที่พยายามให้ตัวเองได้เปรียบ.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”