ซึ่งเป็นกรณีแบบ “คบหากันอยู่ แต่จู่ ๆ หายไปอย่างไม่มีเหตุผล” ที่เป็นอีก “เทรนด์ฮิตของคนรุ่นใหม่” ในยุคนี้ ที่ก็ถือเป็น “ปรากฏการณ์สังคมที่น่าสนใจ”…

มีการฉายภาพอธิบายปรากฏการณ์

ที่ดูไม่ธรรมดาแต่ “ธรรมดาในยุคนี้”

และก็ “มีแง่มุมเชิงลึกที่น่าพิจารณา”

ทั้งนี้ ตอนที่แล้วทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อข้อมูลบางช่วงบางตอนจากบทความบทวิเคราะห์ “จิรักหรือจิหลอกหรือมาหยอกแค่หลอกให้ฝัน : ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบผี ๆ ในแอปพลิเคชันหาคู่” ที่จัดทำไว้โดย ภัคธีมา เนื้อทอง และ กฤษณะ โชติรัตนกมล นักวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ฉายภาพ “รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่” ของ “คนเจเนอเรชันซี” ที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของ “แอปพลิเคชันหาคู่” ที่นำไปสู่ “ความสัมพันธ์แบบที่ไม่ต้องมีคำนิยาม” โดยกับความสัมพันธ์แบบนี้หรือ “ความสัมพันธ์แบบผีหลอก” ความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ผ่านแอปหาคู่เช่นนี้ ก็ได้มีการชี้ไว้ด้วยว่า “มีสาเหตุ-มีปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดขึ้น”

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวได้ระบุไว้ว่า… รูปแบบความสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนเจเนอเรชันนี้ มีประเด็นน่าสนใจคือ… “ความสัมพันธ์แบบผีหลอก” ไม่ได้จำกัดแค่คนที่ออกเดทด้วยกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มเพื่อน คนรู้จัก หรือสมาชิกในครอบครัวด้วย โดย “ผีหลอก” นั้นมีที่มาจาก พฤติกรรมการหายตัวไปเฉย ๆ ที่มีการเปรียบเทียบว่าคล้าย ๆ ภูตผีวิญญาณที่หายตัวล่องหนไปโดยปราศจากคำอธิบาย หรือในอีกแง่หนึ่งก็จะหมายถึงการติดอยู่ในความทรงจำที่คอยหลอกหลอน ด้วย …นี่เป็น “ที่มา” คำว่า “ผีหลอก” ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ “เปรียบเทียบ” เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของพฤติกรรมดังกล่าวนี้

กับ “ปรากฏการณ์ผีหลอก” ที่พบบ่อยใน “ความสัมพันธ์ผ่านแอปพลิเคชันหาคู่” นี้ ยังเข้าได้กับ “ทฤษฎีการลดความไม่แน่นอน” ด้วยเช่นกัน โดยผู้จัดทำบทความได้หยิบยกทฤษฎีดังกล่าวมาอธิบายถึง “รูปแบบความสัมพันธ์” นี้ไว้ว่า… เมื่อผู้ใช้แอปหาคู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย รู้สึกไม่แน่นอนในความสัมพันธ์ หรือไม่มั่นใจในความรู้สึก มัก “แสดงออกมาผ่านรูปแบบการหนีหายไป” ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎี “ลดความไม่แน่นอน” ที่ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายว่า… มนุษย์เรานั้น มักต้องการอยู่ในสถานการณ์ที่ตนเองควบคุมและคาดเดาถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อ “ตกอยู่ในภาวะไม่แน่ใจ” บางคนก็จึง…

เลือก “หลบหน้าหนีหายไปเฉย ๆ”…

ดั่ง “ผีที่ออกมาหลอกแล้วล่องหนไป”

ขณะที่ “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์ผีหลอก” นั้น จากการศึกษากลุ่มเจเนอเรชันซี 19 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 14 คน เพศชาย 3 คน และ LGBTQ+ 2 คน ก็พบสาเหตุ โดยจากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง พบว่า… ส่วนใหญ่ต่างก็มีประสบการณ์ตรง ทั้งผ่านการโดนผีหลอก และเป็นผีหลอกคนอื่นเสียเองก็มี ซึ่งสำหรับ “จุดเริ่มต้น” ในการเล่นแอปพลิเคชันหาคู่นั้น จะประกอบไปด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้คือ… เล่นตามเพื่อน, อยากรู้อยากลอง, อยากหาคนรับฟัง และรวมถึง เพราะมีความต้องการทางเพศ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษานั้นส่วนใหญ่ระบุว่า…ใช้งานแอปหาคู่เหล่านี้มานานมากกว่า 3 ปี

โดยที่… “ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์แบบผีหลอกนั้น มี 3 ปัจจัย ได้แก่… “จากตัวผู้เล่นแอป” เนื่องจากทั้งตนเองและฝ่ายตรงข้ามต่างก็มีตัวเลือกในการหาคู่เยอะ, “จากแอปพลิเคชัน” ที่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบนี้ เช่น การให้ทดลองเล่นฟรี หรือการยืนยันตัวตนของแอปหาคู่ ที่ไม่ได้มีมาตรการเคร่งครัด ทำให้ผู้ใช้ปลอมตัวตนได้ง่าย และสุดท้าย “จากคู่เดท” จากการที่ผู้เล่นอาจมีเป้าหมาย-มีวัตถุประสงค์อื่น ๆ หรือต้องการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เป็นต้น

ทาง ภัคธีมา และ กฤษณะ ยังสะท้อนข้อมูล “ผี” ในความสัมพันธ์ “แอปพลิเคชันหาคู่” ไว้อีกว่า… ในความหมายนี้หมายถึง วิธีเอาตัวรอดยอดนิยม ที่ผู้ใช้แอปหาคู่ สวมบทบาทการเป็นผีเพื่อสร้างโอกาสเปิดกว้างให้ตัวเอง โดยเมื่อสวมบทผีในแอปหาคู่ทำให้สามารถจะเลือกศึกษาคนรู้ใจได้หลากหลายเท่าที่ต้องการ เกิดจากการที่ผู้ใช้มองว่า มีตัวเลือกเยอะ-มีสิทธิเลือก เนื่องจากสามารถเจอผู้เล่นที่หลากหลายได้ทุกวัน จึง เกิดปรากฏการณ์ “ผีหลอก” ได้ง่ายในแอปหาคู่ นั่นเอง

แล้ว “มีผลกระทบหรือไม่?” เรื่องนี้ก็มีการระบุไว้ด้วยว่า… ผลกระทบอาจมีได้ตั้งแต่… ทำให้เป็นโรคนอนไม่หลับ หรือ ทำให้หวาดระแวงที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ครั้งต่อไปกับคนอื่น ซึ่งด้านจิตใจนั้น ในบางคนที่รู้สึกผิดหวังมาก ๆ ก็อาจ ทำให้เกิดภาวะเครียด อาจเป็นโรคซึมเศร้า และอาจทำร้ายตัวเอง ได้ …นี่เป็นผลที่อาจเกิดจากกรณีความสัมพันธ์แบบผีหลอก อย่างไรก็ดี ทางผู้จัดทำบทความนี้ก็ได้ให้ “คำแนะนำ” สำหรับ “ผู้ที่ถูกผีหลอกในความสัมพันธ์” หรือ “ผีหลอกผ่านแอปพลิเคชันหาคู่” ไว้ว่า… วิธีที่จะ ทำให้ก้าวผ่านความรู้สึกแย่ ๆ ไปได้ หรือจะ ช่วยให้ Move on ได้ นั่นก็คือ…

การ “หันกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเอง”

เป็น “คาถาแก้ผีความสัมพันธ์หลอก”

คือ “ทางออกจากกับดักรักแบบผี ๆ”.